xs
xsm
sm
md
lg

ผ่ามิติ “หมู่บ้านผีปอบ” ความเชื่อหรืองมงาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผีปอบ” ไม่มีตัวตนมันเป็นสิ่งสมมติที่คนสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ ความไม่ดี ที่มีความสัมพันธ์กับสังคม โดยเกิดจากคนที่ทำผิดบัญญัติบรรทัดฐานของสังคม เป็นบุคคลไม่พึ่งปรารถนา” สมชาย นิลอาธิ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้คำนิยามผ่านการเสวนาเรื่อง "หมู่บ้านผีปอบ” ในมิติความเชื่อ สังคม และวัฒนธรรม" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน

และเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อไปนี้คือ ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาในการเก็บข้อมูลในหมู่บ้านผีปอบทางภาคอีสาน กรณีบ้านนาสาวนาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ปฐมเหตุแห่ง “ปอบ”
อาจารย์สมชาย อธิบายถึงความเชื่อเรื่องผีว่า ผีเป็นสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่า เป็นสิ่งลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ ซึ่งอาจให้คุณและโทษ ผีมีทั้งผีดีและผีร้าย กลุ่มผีดีเช่น ผีฟ้า (ผีแถน, ผีหมอ) ผีปู่ตา (ผีตาปู่ หรือเจ้าปู่) ผีเรือน(ผีบรรพชน) และผีตาแฮก(ผีนา) ผีไม่ดี เช่น ผีกระสือ ผีโป่ง ผีปอบ เป็นต้น

ส่วนความเชื่อของชาวอีสานผีปอบมีหลายชนิด แต่จะมีผีปอบที่สำคัญ 2 ชนิด คือ ปอบเชื้อ และปอบมนต์ ปอบเชื้อคือปอบที่สืบต่อเป็นทอดๆ ในหมู่ญาติพี่น้อง เช่น ถ้าแม่เป็นปอบเมื่อตัวแม่ตายเชื่อกันว่าปอบของคนตายจะไปสิงอยู่กับลูกสาวหรือญาติพี่น้องและส่วนมากเป็นในผู้หญิง ส่วนปอบมนต์ ก็จะเกิดกับคนที่เรียนวิชาอาคมของขลัง คงกระพันชาตรี และมนต์เสน่ห์ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของวิชาไม่สามารถปฏิบัติตามที่ครูสอนหรือห้ามได้ เชื่อว่ามนต์วิชากลายเป็นผีปอบกินคน หรือกินตัวเองในที่สุด

นอกจากนั้นยังมีคนที่ถูกสังคมลงความเห็นเชื่อว่าเป็นปอบจากสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น คนที่บุกรุกที่ดิน หรือละเมิดสิ่งที่เป็นสาธารณะ คนที่โลภชอบทะเลาะเบาะแว้งกับคนในกลุ่มญาติพี่น้อง โดยเฉพาะเรื่องแย่งมรดก ผู้ที่ไม่มีน้ำใจ ไม่เสียสละ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่าปอบโลภ

ทั้งนี้ จากการได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านพบว่า ส่วนใหญ่มักมีเหตุการณ์ผิดปกติในหมู่บ้านก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนตายติดๆ กัน จากนั้นชาวบ้านก็มักซุบซิบ วิพากษ์วิจารณ์หาสาเหตุที่ทำให้คนตาย แล้วลงความเห็นกันว่าเป็นผีปอบและหาหมอธรรม(พราหมณ์) มาทำพิธีหาสาเหตุ

พฤติกรรมของคนเป็นปอบ หรือปอบเข้าร่าง
อาจารย์สมชายเล่าต่อว่า พฤติกรรมของคนเป็นปอบหรือปอบเข้าร่างคนนั้น ชาวบ้านบอกว่า ปอบมีลักษณะตามที่ฝันเห็นเป็นร่างสัตว์บางชนิด เช่น ลิง สุกร แต่ไม่มีใครเคยเห็นตัว และเชื่อเหมือนๆ กันว่าปอบเป็นต้นเหตุให้คนตายติดๆ กันด้วยการกินตับไตไส้พุง เมื่อถูกหาว่าเป็นปอบ คนนั้นและครอบครัวจะน่าสงสารมากไม่มีใครคบหาสมาคม หรืออาจรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ ขู่ฆ่า จนอยู่บ้านเดิมไม่ได้

ทั้งนี้ คนที่ถูกปอบเข้าจะมีกิริยาอาการผิดจากคนปกติทั่วไป เช่น ส่งเสียงร้องดังๆ ไม่เหมือนเสียงของคน พูดอะไรก็ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งปอบจะสิงสู่ผู้ที่มีจิตใจอ่อนไหว อ่อนแอ ร่างกายไม่แข็งแรง เท่านั้น

...เมื่อมั่นใจว่าเกิดปอบขึ้น ในหมู่บ้านก็จะมีการทำพิธีการจับปอบหรือไล่ปอบโดยใช้หมอธรรมโดยการทำพิธี “เซียงข้อง” คล้ายพิธีเสี่ยงฟ้าฝนหรือเสี่ยงหาของหาย ซึ่งในการทำพิธีต้องใช้ “ไม้ค้อนตีข้าว” โดยให้ผู้ชาย 2 คน จับด้ามไม้ค้อนตีข้าว ถือกวัดแกว่งไปมาตามทุ่งนา คันนา ตามหาผีปอบ เพื่อจับผีปอบที่มองไม่เห็นตัว

จากนั้นจึงช่วยกันไล่ต้อนมาหาหมอ แล้วใช้ผ้าขาวลงมนต์รวบคลุมปอบไว้กับดินแล้วใช้มีดดาบแทงปักปอบที่ถูกผ้ารัดคลุมอยู่ เพื่อเอาปอบยัดใส่ลงไหแล้วช่วยกันปิดปากไหพร้อมนำไปเผาให้สิ้นซาก

“บ้านผีปอบ” หรือ “บ้านรักษาปอบ”
สำหรับกรณีบ้านนาสาวนานนั้น อาจารย์สมชายเล่าว่า ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหมู่บ้านรักษาผีปอบเนื่องเพราะที่นี่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่าบ่อน้ำทิพย์ที่ใช้รักษาถ้ามาดื่มกินหรืออาบน้ำจากบ่อนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผีอะไร ใครเป็นปอบมา แล้วมาอยู่ที่นี่ก็หายหมด

ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมของทุกคนที่จะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในสังคมใหม่ที่นับถือศาสนาพุทธร่วมกัน และขณะเดียวกันก็จะเป็นเสมือน “ถังขยะ” ที่ทุกคนต้องละทิ้งความเชื่อเรื่องผี และเครื่องรางของขลังที่เป็นไสยศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนมาเริ่มต้นยึดเหนี่ยวสิ่งเดียวกันคือ “พุทธ”

อย่างไรก็ตาม บ้านนาสาวนานได้รับการขนานนามว่า เป็นบ้านผีปอบจากหมู่บ้านใกล้เคียง ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็พยายามบอกกับเพื่อนต่างหมู่บ้านว่า “เราไม่ใช่หมู่บ้านผีปอบแต่เป็นหมู่บ้านรักษาผีปอบ” ซึ่งความเป็นอยู่ของหมู่บ้านนี้มีความยากจนเป็นอย่างมากเนื่องจากที่ทำกินและจำนวนชาวบ้านมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมากเพราะคนที่ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ดังนั้น ก่อนที่ผู้คนจะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนาสาวนาน ทุกคนต้องผ่านพิธีกรรม ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำทิพย์ ซักถามประวัติโดยห้ามปิดบังความจริงละทิ้งความเชื่อด้านไสยศาสตร์จึงจะยอมให้เข้าอยู่ร่วมในหมู่บ้าน

อาจารย์สมชาย เล่าว่า ที่นี่ยังคงมีปัญหาการไม่ยอมรับจากคนภายนอก แต่ก็ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะปฏิสัมพันธ์งานบุญ และกลุ่มวัยรุ่น ที่ไม่เชื่อเรื่องผีปอบ คิดว่าไม่มีจริงและไม่กลัว จึงมีการคบหาสมาคมกับเพื่อนหญิง-ชาย เกิดการแต่งงานข้ามหมู่บ้าน มีลูกหลานทำให้ความหวาดกลัวลดน้อยลง

ไม่ว่าปอบจะมีจริงหรือไม่ แต่ในมิติความเชื่อและวัฒนธรรม อาจารย์สมชายบอกว่า มันไม่สำคัญ เมื่อถามว่าปอบมีจริงหรือไม่ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้องถามว่าจำเป็นหรือ ที่จะต้องพิสูจน์หากเพียงแต่ความเชื่อนั้น ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมก็สังคมนั้นให้คนอยู่ในศีลในธรรม ไม่ประพฤติตัวนอกรีตนอกจริยธรรมอันดีงาม อย่างความเชื่อเรื่องผีปู่ตา เคารพบรรพบุรุษก็เป็นสิ่งที่ดี

ส่วนเรื่องหมู่บ้านผีปอบ ถ้ามองในแง่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ และปอบยังคงเป็นความเชื่อที่อยู่คู่สังคมชนบทแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่ไม่เชื่อไม่ควรลบหลู่หรือประณามว่างมงายปล่อยให้เป็นไปตามระบบที่มีอยู่ แต่ควรที่สังคมจะให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยไม่ก้าวกายในเรื่องของความเชื่อน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น