xs
xsm
sm
md
lg

รุ่นพี่อาชีวะสอนรุ่นน้อง ต้องรบเพื่อสถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยเหตุนักศึกษาอาชีวะยกพวกตีกันส่วนหนึ่งเพราะรุ่นพี่ปลูกฝังให้เกลียดชังสถาบันการศึกษาฝ่ายตรงข้าม ชี้ต้องการให้เพื่อนยอมรับจึงต้องชิงเสื้อช็อปและหัวเข็มขัด พร้อมวอนครู อาจารย์ลงมาคลุกคลีกับเด็กเพื่อรู้การใช้ชีวิตของนักเรียน และให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น เพราะหากเทียบกับนักเรียนสายสามัญ นศ.อาชีวะถือว่าห่างเหินกับครูอาจารย์มากกว่า ด้านผู้ปกครองเผยความรู้สึกกังวลเหมือนส่งลูกไปสนามรบ

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนา เรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกรณีศึกษานักเรียนอาชีวศึกษา” โดยมีตัวแทนนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม และโรงเรียนอรรถวิทย์พณิชยการ พร้อมด้วยครู อาจารย์ฝ่ายปกครองและผู้ปกครองเข้าร่วมการสัมมนา ประมาณ 100 คน

ในการสัมมนามีการอภิปราย เรื่อง “ความในใจของเยาวชนที่มีต่อสังคม” โดยเปิดเวทีให้ตัวแทนนักศึกษาอาชีวะฯ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสิทธาราม กล่าวว่า ปัญหาเด็กอาชีวะฯ ตีกันนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากรุ่นพี่ทั้งที่จบไปแล้วและบางส่วนที่ศึกษาไม่จบ เป็นผู้ปลูกฝังให้รุ่นน้องเกิดความเกลียดชังสถาบันการศึกษาบางแห่ง ซึ่งเป็นคู่อริกันมานาน จึงอยากให้ทางสถานศึกษาดูแลรุ่นพี่เหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่เวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ทำให้เด็กเกิดการตัดสินใจผิดพลาดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือตนไม่เชื่อว่าการแก้ปัญหาเด็กตีกันด้วยความรุนแรงนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากกว่า

“จุดเริ่มต้นสำคัญเกิดขึ้นที่การรับน้อง ที่รุ่นพี่จะปลูกฝังว่าเวลาที่ไปเจอสถาบันอื่น จะต้องเอาเสื้อช็อป เอาหัวเข็มขัดมา และเพลงเชียร์เองก็มีเนื้อหาที่มีผลในเชิงยั่วยุให้เด็กเกิดความก้าวร้าว ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทางสถาบันเองก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนแต่ก็ยังคงมีอยู่ การเอาตัวรอดของนักเรียนอาชีวะฯ คือเดินทางเป็นหมู่คณะ เพราะทำให้อุ่นใจกว่า และอยากให้กวดขันตรวจอาวุธบริเวณหน้าสถานศึกษาให้เข้มงวดขึ้นด้วย” นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคราชสิทฯ กล่าว

นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าวว่า ปัญหานักศึกษาอาชีวะฯ ตีกันนั้น ถือว่าเป็นปัญหาที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือการแข่งขันรถจักรยานยนต์ที่เกิดความสูญเสียมากมายกว่า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นักเรียนตีกัน สื่อก็มักจะทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าความเป็นจริง สำหรับวิธีการแก้ปัญหานั้นตนอยากให้ครู อาจารย์หรือผู้ใหญ่ได้ลงมาคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับเด็กๆ บ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าวัยรุ่นทำกิจกรรมอะไรกันและใช้ชีวิตอย่างไร และอยากให้ครู อาจารย์มีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนมากขึ้น เพราะหากเปรียบเทียบแล้ว เด็กนักเรียนสายสามัญจะมีความใกล้ชิดกับอาจารย์ที่ปรึกษามากกว่า

นอกจากนี้ก็อยากเรียกร้องต่อสังคมว่าไม่ควรจะมีการแบ่งแยกระหว่างนักศึกษาอาชีวะฯ กับเด็กสายสามัญ
เพราะมีหลายครั้งที่สถานประกอบการปฏิเสธที่จะรับนักศึกษาอาชีวะฯ เข้าฝึกงานด้วย เพียงเพราะชื่อของสถาบันไปเกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กตีกัน แต่เลือกที่จะรับนักเรียนสายสามัญแทน ทั้งๆ ที่เด็กคนนั้นมีความประพฤติดี
จึงขอเสนอให้มีการจัดกิจกรรมแข่งกีฬาหรือแข่งขันการประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้สถาบันอาชีวศึกษาต่างๆ ได้เกิดความสันพันธ์กัน

ด้านนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกฯ กล่าวว่า การที่นักศึกษาอาชีวะฯ เกิดการรวมตัวและเกาะกลุ่มกันนั้นทำให้มีพลังมากขึ้น ทำให้มีความกล้ามากขึ้น ขณะเดียวกันทุกคนต่างต้องการให้เกิดการยอมรับจากเพื่อนฝูง จึงอยากแสดงให้เพื่อนเห็นว่าตนเองเก่ง จึงเกิดการแย่งเสื้อช็อปหรือหัวเข็มขัดกันขึ้น เพื่อให้เพื่อนยอมรับ แต่เรื่องดังกล่าวก็เป็นเพียงสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน

ขณะที่นายไชยรัตน์ ประดิษฐ์ภัทรชาญ หัวหน้ากลุ่มพัฒนากิจการนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กอาชีวะฯ ตีกันไม่สัมฤทธิ์ผลสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก 1.ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเด็กอย่างแท้จริง 2.งบประมาณในการแก้ปัญหามีอย่างจำกัด 3.สังคมเรียกร้องให้เด็กอาชีวศึกษาพัฒนาตนเอง แต่กลับไม่มีสิ่งสนับสนุนให้เด็กเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ขาดสนามกีฬา ขาดเวทีทำกิจกรรม เป็นต้น และ 4.การจัดการหรือปรับเปลี่ยนด้านเยาวชนจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเด็กอย่างแท้จริง

จากนั้นในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง “แนวทางการช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา” นางอุทัย เถื่อนกลาง ผู้ปกครองนักศึกษาอาชีวศึกษาที่เคยร่วมก่อเหตุทะเลาะวิวาท กล่าวว่า ทั้งทางครอบครัวและทางสถาบันการศึกษาล้วนสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี แต่ที่เด็กไปก่อเหตุน่าจะเกิดจากตัวของเด็กเองมากกว่า และสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความรักและติดเพื่อน ทุกวันนี้ตนรู้สึกเป็นห่วงลูกอยู่ตลอดเวลา กลัวว่าจะไปทะเลาะวิวาทกับนักศึกษาสถาบันอื่น

“ทุกวันนี้เหมือนเราส่งลูกไปสนามรบมากกว่าไปเรียนหนังสือ แต่ก็พยายามบอกให้เขาตั้งใจเรียน บางครั้งก็บอกกับลูกและเพื่อนลูกว่า เก่งใช่ไหม ถ้าเก่งไม่ต้องไปตีกับใคร มาตีกับแม่ก็ได้” นางอุทัยกล่าว

นายพิทยา ชนะจิตพันธ์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม กล่าว่า สิ่งที่อาจารย์ผู้ปกครองต้องมีคือ 1.ดูแลให้ความรัก ความเข้าใจกับเด็กทุกคน 2.ปลูกฝังนักเรียน นักศึกษาให้มีระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรมอย่างมีความสุข และ 3.มุ่งพัฒนาให้เด็กเป็นคนดีและเก่ง

ด้านนายสมเกียรติ ลีลาพจนาพร ประธานกลุ่มอาชีวศึกษากลุ่ม 4 ธนบุรี กล่าวว่า โรงเรียนอาชีวศึกษาจะมีระบบการดูแลและป้องกันโดยแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มปกติและกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังนี้จะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ได้จัดครู อาจารย์ออกตรวจตราในจุดต่างๆ ร่วมกันระหว่างสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจุดที่เป็นอันตรายมีอยู่ไม่มาก ได้แก่ จุดห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค-อ้อมน้อย และห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพระราม 2 ที่ต้องออกตรวจตราร่วมกันเป็นประจำ

นอกจากนี้จะมีการตรวจอาวุธ ซึ่งเป็นวิธีการป้องปราม และแก้ไขด้วยการจัดกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างอาชีวศึกษาในกลุ่ม รวมถึงถ่ายรูปกลุ่มเด็กที่ใช้เส้นทางสัญจรในแต่ละเส้นทางไว้ เพราะเมื่อเกิดเหตุในเส้นทางนั้นๆ คู่กรณีจะสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นใครเมื่อเห็นรูป ซึ่งจะติดตามตัวได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือเด็กที่เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทมักจะออกนอกเส้นทาง เมื่อเลิกเรียนแล้วไม่ตรงกลับบ้านทันที ทำให้ดูแลลำบาก
กำลังโหลดความคิดเห็น