xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาเห็ดไว้เป็นคลังข้อมูลเพื่อช่วยผู้ป่วยกินเห็ดพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการจุฬาแนะให้มีการศึกษาข้อมูลเห็ดชนิดต่าง ๆ ในไทยทุกชนิด โดยให้แยกแยะว่าชนิดเห็ดชนิดใดมีพิษหรือรับประทานได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษหรือเห็ดเมาอย่างได้ผลและทันท่วงทีด้วย

ศ.น.พ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าหน่วยวิจัยไวรัสตับอักเสบ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิษจากเห็ดในประเทศไทย สาเหตุที่ศึกษาเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารและตับ เราพบว่ามีผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดที่มีพิษ หรือเห็ดเมามารับการรักษาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

สำหรับเห็ดที่มีพิษในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการคล้ายกับอาหารเป็นพิษ ทั้งนี้ จะเห็นอาการก็ต่อเมื่อรับประทานเห็ดไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง คนที่กินจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย ปวดท้อง บางรายโดยเฉพาะในเด็กอาจถึงกับเสียชีวิตได้

เห็ดในกลุ่มนี้ที่พบในบ้านเรามักจะอยู่ในกลุ่มเห็ดหัวกรวด ชนิดที่เรียกว่า เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน คือ เมื่อนำเห็ดดอกแก่ที่บานเต็มที่มาคว่ำแล้วเคาะดูสปอร์จะพบว่าสปอร์มีสีเขียวมะกอก เห็ดชนิดนี้จะขึ้นในที่โล่งแจ้งและสนามหญ้าในอุณหภูมิพอเหมาะ อย่างไรก็ตาม เห็ดหัวกรวดชนิดนี้เมื่อดูรูปลักษณ์ภายนอกมักจะแยกจากเห็ดหัวกรวดชนิดอื่น ๆ ได้ยาก ทำให้ชาวบ้านที่รับประทานเข้าไปเกิดอันตรายได้

กลุ่มที่2 เห็ดมีพิษที่ทำให้เกิดอาการทางตับ ส่วนใหญ่เป็นเห็ดป่า มักพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดระโงก ลักษณะของเห็ดจะมีสีขาวอมเทา ลำต้นมีวงแหวนเห็นชัดเจน เห็ดในกลุ่มระโงกนี้มีทั้งที่รับประทานได้และรับประทานไม่ได้ ซึ่งรูปร่างภายนอกจะไม่พบความแตกต่าง ต้องอาศัยการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญ

“เคยพบว่ามีชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานี รับประทานเห็ดไข่ห่านแล้วทำให้เสียชีวิตทั้งครอบครัวด้วยโรคตับวาย เห็ดนี้มีสารพิษที่ทำลายเซลล์ตับอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับผู้ที่รับประทานเห็ดในกลุ่มแรก หลังจากนั้นในช่วง 1-2 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น และจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว เกิดอาการตับวายและเสียชีวิตในที่สุด”

กลุ่มสุดท้าย เห็ดระโงกที่ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทอยู่ในกลุ่มของ เห็ดระโงกหิน ซึ่งมีสารพิษ เห็ดเมาในกลุ่มนี้บางชนิดจะมีสีสันฉูดฉาด เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะมีอาการน้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล รูม่านตามีขนาดเล็กลง หลังจากนั้นไม่นานก็จะเสียชีวิต

ศ.นพ.ยง แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนช่วยกันศึกษาเติมเต็มความรู้และสืบเสาะข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอน เกี่ยวกับเห็ดมีพิษในบ้านเรานับตั้งแต่แหล่งที่มา รวมทั้งต้องมีการศึกษาวิจัยให้ถึงที่สุด โดยเก็บบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดชนิดต่าง ๆ เพื่อแยกแยะว่าชนิดใดมีพิษ ชนิดใดที่สามารถรับประทานได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยอย่างได้ผลและทันท่วงที “หากผลการศึกษาชัดเจนว่าเห็นชนิดไหนมีพิษจะได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ลดความเสี่ยงต่อการชีวิต”
กำลังโหลดความคิดเห็น