xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศูนย์พึ่งได้ช่วยเด็ก-ผู้หญิงถูกทำร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาธารณสุขเปิดศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลใหญ่ 104 แห่ง เพื่อดูแลเด็ก ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืนและอื่นๆ โดยให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว มีทั้งนักกฎหมาย การแพทย์ การสังคมสงเคราะห์ องค์การอนามัยโลก เผยสถานการณ์ความรุนแรงนับวันเพิ่มมากขึ้น

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดบริการช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหรือถูกข่มขืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม โดยการทำงานแบบสหวิชาชีพอย่างครบวงจร

นางสุดารัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ว่า นับวันปัญหาความรุนแรงทางสังคมไทยจะมีมากขึ้น ในปี 2545 มีผู้บาดเจ็บจากการทำร้ายตัวเองและถูกทำร้าย 211,738 ราย เสียชีวิต 4,239 ราย แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลปีเดียวกันจากสำนักระบาดวิทยาที่รวบรวมจากโรงพยาบาลศูนย์ 24 แห่ง พบว่ามีผู้หญิงได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,405 ราย พบมากที่สุดในกลุ่ม อายุ 15 ปี ร้อยละ 72 ถูกประทุษร้าย ร้อยละ 30 ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มี 101 ราย โดยเกือบ ร้อยละ 60 เป็นการทำร้ายทางเพศ ที่เกิดเหตุพบมากที่บ้านถึงร้อยละ 64 โดยมีผู้เสียชีวิต 75 คน

จากปัญหาความรุนแรงคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดบริการเพื่อเป็นศูนย์ที่พึ่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุข ได้ทดลองเปิดให้บริการศูนย์พึ่งได้ตั้งแต่ปี 2543 ในโรงพยาบาลจังหวัด 20 แห่ง ผลการดำเนินงานพบว่ามีโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ขอนแก่น รพ.ระยอง รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รพ.สระบุรี และ รพ.เชียงราย ประชานุเคราะห์มีความก้าวหน้าในการจัดบริการ เป็นต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้ ปี 2547 ซึ่งเป็นปีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสครบ 6 รอบเฉลิมพระชนมพรรษา จึงขยายในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพิ่มอีก 104 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด 94 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 5 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 3 แห่ง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 แห่ง และสังกัดกรมอนามัย 1 แห่ง

สำหรับวิธีการจัดบริการดังกล่าวจะใช้วิธีการรวมศูนย์ประสานช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปหา ได้แก่ ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกฎหมาย รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นเข้ามา มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้การดำเนินงานเข้มแข็งและยั่งยืน ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่มีปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีความรุนแรงสูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคเอดส์และวัณโรค พบว่ามีคนเสียชีวิตจากความรุนแรงทุกประเภทปีละ 1.65 ล้านคน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา และพบว่ามีเด็ก 800 ล้านคนทั่วโลกเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในจำนวนนี้ 500 ล้านคน เป็นการกระทำผิดแบบสัมผัสและร่วมประเวณี ส่งผลให้เด็กมีความเครียด เสี่ยงต่อความผิดปกติทางจิต เกิดการซึมเศร้า ตื่นกลัวเป็นสาเหตุการใช้ยาเสพติด แอลกอฮอล์ บางคนไม่สามารถหาทางออกได้จึงหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
กำลังโหลดความคิดเห็น