xs
xsm
sm
md
lg

หมอตาก-ปัตตานี คว้ารางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิแพทย์ชนบทมอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2547 ให้ น.พ.พิเชฐ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก และ น.พ.ซุลกิฟลี ยูโซ๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น จ.ปัตตานี แพทย์ผู้เสียสละทำงานเพื่อสุขภาพคนในชนบท และมีผลงานดี ควรแก่การยกย่องเป็นแบบอย่าง

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะกรรมการสรรหาแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมวิชาการมูลนิธิแพทย์ชนบทประจำปี 2547 พร้อมทั้งมีพิธีมอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ซึ่งในปีนี้ผู้ได้รับรางวัลมี 2 คนคือ น.พ.พิเชฐ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก และ น.พ.ซุลกิฟลี ยูโซ๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น จ.ปัตตานี

ทั้งนี้ มูลนิธิแพทย์ชนบทมีการสรรหาแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และอดทน เฉกเช่นเดียวกับ น.พ.กนกศักดิ์ พูลเกษร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จ. สระแก้ว ซึ่งเสียสละไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลและเสี่ยงภัยใกล้ชายแดนกัมพูชา จนต้องจบชีวิตด้วยการถูกลอบทำร้ายตั้งแต่ปี 2528 เพื่อมอบรางวัลและเชิดชูเกียรติเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นแบบอย่างแก่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขรวมทั้งบุคคลทั่วไป จนถึงปัจจุบันมีการมอบรางวัลทุกปี รวมเป็นระยะเวลา 19 ปีมาแล้ว มีแพทย์ได้รับรางวัลมาแล้วรวม 32 คน

สำหรับ น.พ.ซุลกิฟลี จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2535 รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมีเตียงแค่ 10 เตียง ทั้งโรงพยาบาลมีหมออยู่เพียงคนเดียว ดูแลประชากรในอำเภอที่เล็กที่สุด ไกลที่สุด ประชาชนยากจนที่สุด ต้องเผชิญปัญหาสำคัญ คือ ชาวไทยมุสลิมยังมีความเชื่อถือในการรักษาแบบโบราณ โดยเฉพาะการคลอดบุตรที่ชาวบ้านต้องการคลอดที่บ้านกับหมอตำแยที่เรียกว่า ”โต๊ะบีแด” มากกว่า แต่ด้วยการทำงานที่ใกล้ชิดและเข้าถึงชุมชน ทำให้ ตอนนี้สตรีมีครรภ์ร้อยละ 90 ของ อ.ไม้แก่น คลอดที่โรงพยาบาล และอัตราการตายคลอดในพื้นที่ก็ลดลงอย่างชัดเจน นับจนถึงปัจจุบัน น.พ.ซุลกิฟลี ทำงานที่ อ.ไม้แก่น มาถึง 12 ปี

น.พ.พิเชฐ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก กล่าวถึงหลักการที่ทำให้เขาอยู่ในชนบทมาอย่างยาวนานว่า ทุกอย่างต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงจะสามารถทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชนได้เป็นอย่างดี โดย น.พ.พิเชฐ มีผลงานโดดเด่นในด้านการแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ในการพัฒนาโรงพยาบาล

โดยก่อนหน้าที่ น.พ.พิเชฐ จะมรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากนั้น โรงพยาบาลบ้านตากมีอัตราการโยกย้ายสูงมาก ในห้วงเวลา 30 ปีก่อนหน้านั้นมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลถึง 30 คน แต่ นพ.พิเชฐ ได้ทำงานที่บ้านตากติดต่อกันมาแล้วถึง 7 ปี นับเป็นแพทย์ที่อยู่บ้านตากนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากบ้านตากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะชาวไทยภูเขา เช่น ม้ง กะเหรี่ยง มูเซอ รวมถึงชาวไทยพื้นราบ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดอย่างไข้เลือดออก มาลาเรีย และเอดส์ รวมทั้งปัญหาสาธารณสุขพื้นฐานของชนบทที่ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนักมาโดยตลอด

อีกทั้งในอดีตชาวบ้านไม่ศรัทธาต่อโรงพยาบาลชุมชน เวลาเจ็บป่วยจะเหมารถเข้าไปรักษาในเมือง เพราะเห็นว่าจะมีแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งเมื่อปรับวิธีทำงานเชิงรุกเข้าไปในชุมชนและทำผลงานให้ปรากฏ พบว่าสามารถเปลี่ยนทัศนคติทั้งของคนไข้และบุคลากรในโรงพยาบาลและทำการพัฒนาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน น.พ.ซุลกิฟลี กล่าวว่า ในการทำงานกับชาวบ้าน โดยเฉพาะกับชาวไทยมุสลิม หมอจะต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ให้เขารู้สึกได้ว่าข้าราชการมีความจริงใจกับเขา และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริง ๆ

สำหรับพิธีมอบรางวัลในปีนี้ น.พ.บรรลุ ศิริพานิช แพทย์อาวุโส จะเป็นประธานมอบรางวัล หลังจากนั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี นพ.มรกต กรเกษม และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกล่าวให้กำลังใจแก่แพทย์ชนบทที่จะมาร่วมประชุมกันจำนวนกว่า 300 คนจากทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาพิเศษ พีร์ คำทอน โดย ศ.น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เรื่องโรงพยาบาลชุมชนกับการสร้างเสริมสุขภาพ และการอภิปรายหัวข้อ เจาะใจทิศทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2548 โดย น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้สนใจเข้าร่วมงานโปรดสอบถามรายละเอียดได้ที่มูลนิธิแพทย์ชนบท โทร. 02-590-1385 วันเวลาราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น