xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ”ล้อมคอกสั่ง ก.พ.จับเข่าคุยนักเรียนทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทักษิณ”สั่ง ก.พ.จับเข่าคุยนักเรียนทุนพร้อมออกหนังสือเวียนแจ้ง ใครเครียดเรียนภาษาไม่ไหว เปิดโอกาสให้กลับมาเรียนเสริมที่เมืองไทย ยันยังให้ทุนเหมือนเดิม ด้าน“วิษณุ” รับ “รัฐ” ส่งเด็กทุนหวยไปเรียนนอกไม่มีความพร้อม เผย “จนท.”ดูแลไม่ทั่วถึงทำให้เด็กว้าเหว่คิดฆ่าตัวตาย ชี้ควรให้เรียนภาษาก่อนส่งไปเมืองนอก เร่งขอความร่วมมือ “จิตแพทย์” ประจำสถานทูตดูแลมากขึ้น


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นักเรียนทุนกองสลากรัฐบาลไทยไปศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ประเทศเยอรมนี กระโดดตึกเสียชีวิต เนื่องจากเครียดเพราะไม่มีพื้นฐานภาษาเยอรมันว่า เด็กคนนี้เป็นเด็กเรียนเก่ง เกรดเฉลี่ย 3.8 ซึ่งมีเด็กบางคนขี้กังวล ตนได้สั่งไปแล้วว่าเรื่องของการให้คำปรึกษาก่อนเดินทางเป็นสิ่งที่จำเป็นและให้ทางออกไปแล้วว่า เด็กที่ไปเรียนยังเยอรมันบางคนอยากเรียนในสถาบันการศึกษาที่สอนภาษาอังกฤษก็สามารถที่จะเรียนได้และเรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่สอง แทนที่จะเอาภาษาเยอรมันเป็นภาษาแรกตั้งแต่ต้น ซึ่งมันหนัก กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องที่เราต้องแก้ไข เพราะจริงๆแล้วเด็กนักเรียน 980 กว่าคนที่ได้ทุนไปก็เกิดเหตุรายนี้รายเดียว ซึ่งเราก็เสียใจ แต่ก็คงต้องเป็นบทเรียนที่ดีเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง ก.พ.ดูแลทั่วถึงหรือเปล่า พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า จริงๆแล้วเขารายงานผ่านมาทางสถานทูตและทาง ก.พ.เพื่อนฝูงก็เข้าไปช่วยกันคุย แต่ทีนี้อาจเป็นเพราะว่าบางครั้งเขาต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์

“เด็กคนนี้แอบทานยาพาราเซตามอลไป 50 เม็ด จึงเกิดการต่อสู้ภายในใจว่า ไปก็กลัวจะแย่ ครั้งจะอยู่ก็หาทางออกไม่ได้”พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

เมื่อถามว่าจะมีนโยบายให้เด็กไปอยู่กับครอบครัวในต่างประเทศ เพื่อให้เขาดูแลเบื้องต้นหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า เรื่องนี้หากเราให้คำปรึกษาตั้งแต่ต้นปัญหาก็จะน้อยลงหรือหากเขาอยากเรียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษก็ให้เขาเรียนพื้นฐานจากประเทศไทยไปสักหน่อยก่อน เขาถึงจะปรับตัวดีขึ้น เราอาจจะส่งเร็วไปหน่อย

เมื่อถามว่า ยังมีบางส่วนที่ค่อนข้างเครียดกับการเรียนแบบนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้เราสั่งไปแล้วว่าให้ทาง ก.พ.ไปคุยกับเด็กเพื่อดูว่าใครมีภาวะความเครียดอะไรบ้างและให้ออกหนังสือเวียนแจ้งไปว่าถ้าใครเรียนภาษาไม่ไหวให้กลับมาเรียนเมืองไทยได้ ทุนก็ยังให้ต่อ เราให้เรียนอยู่แล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ณัฐชนน เมฆี ที่ได้รับเงินทุนการศึกษาจากสลากกินแบ่งรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แล้วกระโดดตึกค่าตัวตายเนื่องจากทนแรงกดดันในการเรียนภาษาที่ๆไม่เคยเรียนมาก่อนได้ ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มันเหนือบ่ากว่าแรง เด็กคนนี้มีปัญหาไปเรียนภาษาแล้วมันยาก เมื่อวาน (17ส.ค.) ได้มีการพูดในที่ประชุมครม.ว่าการส่งคนไปเรียนภาษาในประเทศที่แปลกๆนั้น 1. ควรจะให้เรียนภาษาจากเมืองไทยก่อน อย่าไปเริ่มเรียนที่โน่นเลย 2. ให้มีนักจิตแพทย์ซึ่งในสถานทูตต่างๆให้บริการอยู่แล้วนั้น มาช่วยดูแล 3. บางทีบางประเทศเราหวังให้ได้ภาษานั้น ซึ่งเป็นประเทศที่ประหลาดๆ อาจจะให้เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษแล้วเอาภาษาประหลาดๆเป็นภาษาที่2 คือมันยากสำหรับบางคนจะขอเรียนในเมืองไทยยังไม่มีใครสอนเลย

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เด็กคนนี้ ตอนที่ตนไปต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว มีผู้แทน ก.พ.ในประเทศนั้น บอกว่ามีเด็กบางคนมีปัญหา ประเทศเหล่านี้เด็กเขาเลือกเองเราไม่ได้เลือกให้ พอเขาสอบได้เราก็ให้เลือกเอาเอง เมื่อถามว่า ก่อนเดินทางไปเยอรมณี น.ส.ณัฐชนน ได้เข้าอบรมภาษาเกือบ 1 เดือน นายวิษณุ กล่าวว่า 1 เดือน มันน้อยไป ต้องเป็นปี ความจริงคนที่ไม่เคยเรียนสักวันก็ไปได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเกณฑ์การคัดเลือกจะต้องมีอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ แต่เราหวังว่าจะต้องมีที่ปรึกษาช่วยในการแนะนำ เพราะไปอยู่ในชนบทที่ห่างไกล เช่น ที่เยอรมณีแล้วไม่มีผู้ดูแลอยู่ที่นั่น เพราะเขาอยู่ที่ลอนดอน เขาว้าเหว่ไม่รู้จะเดินไปหาใครจึงคิดค่าตัวตาย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์เด็กยากจน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) เข้าไปดูแลเด็กในโครงการเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการให้เด็กที่ได้รับทุนเข้าใจ และสบายใจไม่ต้องเครียด เพราะทุนนี้มีความยืดหยุ่น และทางโครงการก็เข้าใจที่เด็กมีการเตรียมตัวและปรับตัวน้อย และทราบว่า นักเรียนทุนรุ่นนี้ส่วนใหญ่เรียนภาษาต่างประเทศกันอยู่ แต่ยังไม่ทราบว่าเด็กมีปัญหามากน้อยเพียงใด เพราะว่าการตรวจสอบไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ

“หากเด็กทนไม่ไหวหรือเรียนไม่ได้ ก็จะเปลี่ยนให้กลับมาเรียนในเมืองไทยก็ได้ หรือว่าเด็กที่อยู่ในประเทศที่มีภาษาที่ยากก็จะสามารถกลับมาเรียนในคอร์สภาษาอังกฤษระดับอินเตอร์ได้ โดยจะไม่สูญเสียทุนนี้และจะคงทุนไว้ อย่างไรก็ตามต่อไปนี้ก่อนจะส่งเด็กไปก็จะมีการเตรียมการให้ดีขึ้น โดยเน้นเรื่องของภาษา การปรับตัวการใช้ชีวิตและเรื่องของวัฒนธรรม เพราะเด็กบางคนไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะไปได้ต่างประเทศ จึงไม่มีการคิดว่าจะใช้ชีวิต อย่างไร จึงปรับตัวลำบาก”นายจาตุรนต์กล่าว

นายกิติศักดิ์ สินธุวนิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชติ (สศช.) กล่าวว่า โครงการนี้เน้นการทำความเข้าใจกับประชาชน และความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาผู้ที่มีรายได้น้อย คือ มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อครอบครัวต่อปี และขณะนี้มีการมอบทุนให้เด็กด้อยโอกาสไปแล้ว 123,440 ทุน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 60,135 ทุน มัธยมศึกษา 42,169 ทุน ปวส.และปริญญาตรี 14,053 ทุน และหากแบ่งเป็นรายภาค คือ อีสาน 48,000 ทุน ภาคเหนือ 3 หมื่นทุน ภาคกลาง 16,000 ทุน ภาคใต้ 11,000 ทุน และที่เหลือคือตะวันออกและภาคตะวันตก อีก 18,440 ทุน รวมวงเงิน 1,063,560,000 บาท

นอกจากนี้ยังได้แบ่งเป็นทุนสำหรับบุตรผู้ทำประโยชน์ ทางข้าราชการและทางสังคม จำนวน 51,981 ทุน ในวงเงิน 528 ล้านบาท เช่น ข้าราชการ ผู้ประสานงานพลังแผ่นดิน หรือผู้เสียชีวิตกับการต่อสู้กับยาเสพติด เป็นต้น

“ทางคณะกรรมการฯ มีความเป็นห่วงอยากให้เด็กได้ใช้เงินและเกิดประโยชน์กับเด็กจริง ๆ โดยจะเน้นการสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับเด็ก โดยเงินดังกล่าวจะมีการตรวจสอบกลไก และประเมินผล ว่าเด็กได้ใช้เงิน จริงหรือไม่ โดยมอบให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ดูแลเพราะเชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับเด็กที่สุด”นายกิติศักดิ์กล่าว

นายกิติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน ได้มีการเตรียมความพร้อมของเด็กและให้เรียนรู้ภาษาต่าง ๆอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่ไม่ได้เรียนรู้ เพื่อป้องกันปัญหา ในเรื่องความเครียด ก็ได้มีการพูดคุยกันแต่ต้นแล้ว โดยมีแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งกำลังประเมินผลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ดูแลเงิน เพราะเงินจากโครงการนี้ไม่มีข้อผูกมัดหรือเงื่อนใด ๆ เป็นทุนเพียงต้องการให้เด็กกลับมาพัฒนาพื้นที่ตัวเองโดยใช้ประสบการณ์ความรู้เพื่อประโยชน์

น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จากการที่ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือกัน พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่สภาพจิตใจของเด็กที่มีความคิดถึงบ้าน ประกอบกับความเครียดในการปรับตัวที่ต้องไปเรียนในต่างแดน แล้วเจอกับปัญหาความไม่คุ้นเคยเรื่องของภาษา

ทั้งนี้ ระบบการคัดเลือกเด็กที่ไปเรียนต่อต่างประเทศนั้น ปกติเด็กที่เข้ารับทุนจะมีความมุ่งมั่น ต้องการที่จะไปเรียนเองไม่ได้ถูกบังคับแต่อย่างใด ซึ่งก่อนที่จะไปศึกษาต่อนั้นก็มีการเข้าค่ายเตรียมความพร้อมก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่มีการเข้าค่ายนั้น ก็ได้สอบถามความต้องการของเด็ก และหากเด็กต้องการเปลี่ยนใจเรียนสาขาวิชาหรือประเทศก็สามารถเปลี่ยนได้ โดยไม่ตัดทุน ขณะเดียวกันกรณีที่เด็กได้เดินทางไปศึกษาแล้วรู้สึกว่าเรียนไม่ไหว ก็ให้โอกาสเด็กได้เปลี่ยนสาขาหรือกลับมาเรียนในประเทศไทยได้ แต่การเปลี่ยนไปเรียนประเทศอื่นแทนคงไม่เหมาะสม เพราะถ้าเหตุผลว่าคิดถึงบ้านก็ควรกลับมาที่ประเทศไทย

เลขานุการ รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนในปีแรกทั้งหมด 922 คน ซึ่งในจำนวนนี้เลือกเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศทั้งหมด 740 คน โดยได้เดินทางไปเรียนแล้ว 335 คน และอยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อรอการเดินทาง เนื่องจากสถานศึกษาในต่างประเทศยังไม่เปิดภาคเรียน 405 คน ส่วนที่เหลือ 182 คนเลือกที่จะเรียนในประเทศไทย

สำหรับการดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศนั้น ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยปัจจุบันนี้ไม่ได้มี ก.พ.อยู่ในทุกประเทศ ดังนั้นต่อไปคงต้องให้มี ก.พ.อยู่ในทุกประเทศ ซึ่งในส่วนของ ศธ.เองก็ควรที่จะมีเจ้าหน้าที่ทูตการศึกษาไปประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ที่มีนักเรียนไปไทยไปเรียน คอยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องปัญหาความเครียดต่างๆ โดยจะเสนอเรื่องนี้ให้ รมว.ศธ.พิจารณาต่อไป

“ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่จะแก้ไขปรับปรุงโครงการให้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่าโครงการไม่ดี แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในจุดใดเราก็ต้องแก้ไขในจุดนั้น ไม่ควรให้ปัญหาเดียวทำให้โครงการดีๆต้องล้มเลิกไป” น.พ.ทศพร กล่าวและว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือครอบครัวของ น.ส.ณัฐชนน ความจริงแล้วเด็กทุกคนที่เดินทางไปเรียนต่างประเทศจะมีเงินประกันชีวิต แต่ในกรณีนี้เนื่องจากนักเรียนฆ่าตัวตาย ประกันภัยจึงไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน และจากการประเมินสภาพครอบครัวของนักเรียนแล้วพบว่า พ่อแม่ของ น.ส.ณัฐชนนมีลูกทั้งหมด 8 คน และแต่ละคนก็ทำงานมีหน้าที่การงานมั่นคงสามารถอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ดังนั้น รมว.ศธ.จะให้เงินส่วนตัวจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือต่อไป

ด้านนายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศธ.กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าเศร้าใจมาก เพราะเด็กที่เสียชีวิตนั้นเป็นเด็กที่ผลการเรียนดี เรียบร้อย และยังเป็นเด็กที่ทำกิจกรรมด้วย ซึ่งดูแล้วไม่น่าเกิดปัญหาขึ้น แต่คาดว่าสาเหตุที่ทำให้คิดฆ่าตัวตายนั้นอาจจะเป็นเรื่องของการปรับตัวมากกว่า ส่งผลให้สภาพจิตใจไม่ปกติเกิดความขัดแย้งในตัวเอง อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่าจะทำอย่างไร

นอกจากนั้น ต่อไปอนาคตในการคัดเลือกเด็กและการเตรียมความพร้อมของเด็กที่จะไปศึกษาต่อนั้นคงต้องมีการสัมภาษณ์ความพร้อมอย่างพิเศษมากกว่านี้ ซึ่งคงต้องระมัดระวังมากขึ้น ส่วนที่ในทุกประเทศที่เด็กไปเรียนนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ก.พ.ประจำอยู่นั้น ในเรื่องนี้คงต้องมีการหารือกัน เพื่อทำให้เด็กมีที่ปรึกษาและไม่เกิดความรู้สึกว้าเหว่ สำหรับเด็กที่ไปศึกษาต่ออยู่แล้วนั้น ทาง ศธ.เองก็ต้องมีการเฝ้าระวังติดตามดูแลเด็กทุกคน หากใครมีปัญหาอย่างไร จะได้เข้าไปช่วยแก้ไขได้ สำหรับการจัดโครงการในปีต่อไปนั้นก็จะดูแลให้เข้มงวดขึ้น แต่คงจะไม่หยุดดำเนินโครงการต่อ

นายมนตรี สินทวิชัย ส.ว.สมุทรสงคราม และในฐานะเลขามูลนิธิเด็ก ให้ความเห็นว่า การเตรียมความพร้อมของเด็กที่ได้รับทุนไปศึกษายังต่างประเทศ จะเตรียมแค่ในเรื่องของความรู้ ความสามารถอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเตรียมความพร้อมทางด้านอารมณ์ และจิตใจด้วย เพราะแม้แต่เด็กที่เรียนอยู่ในประเทศเองยังถูกกดดันในเรื่องของการแข่งขัน ที่กลายเป็นค่านิยมไปแล้ว ดังนั้น เด็กที่ไปเรียนต่างประเทศยิ่งควรได้รับการดูแลทางด้านจิตใจเป็นมากเป็น 2 เท่า

“เวลานี้เรากำลังลืมไปว่า เด็กไม่ใช่เครื่องจักร ความรู้สึกของเด็กสำคัญมากกว่าทักษะ หรือความรู้ที่เกิดจากการเรียน วุฒิภาวะของเด็กประกอบด้วยกันหลายส่วน เราลืมเน้นการควบคุมอารมณ์ ไปเน้นแต่เรื่องของความฉลาด เลยทำให้เด็กมีปัญหา การจะแก้ปัญหานี้ มันต้องเริ่มตั้งแต่รากเหง้าของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อไม่ให้เด็กกลายเป็นเหยื่อการแข่งขันในระบบทุนนิยม และในสังคมบริโภค สิ่งที่ได้กลับมาคือความล้มเหลว”

นายมนตรี กล่าวด้วยว่า การไปเรียนต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องถามความต้องการของเด็กด้วย ไม่ใช่ถามจากความต้องการของผู้ใหญ่ โดยที่ไม่รู้ว่าเด็กอยากไปหรือไม่ และควรเลิกเสียทีค่านิยมของคนว่าต้องเรียนจบน้อย รัฐบาลน่าจะพิจารณาดูว่า ทำอย่างไรให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเอง แม้จะจบแค่ม.3 หรือ ม.6 ดีกว่าเก่งแต่ไม่มีความสุข เพราะชีวิตคนบางคนความสุข หรือความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การเรียน ซึ่งรายละเอียดเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน

ขณะที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กล่าวว่า ความจริงแล้วในเรื่องการให้ทุนเด็กถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ควรจะนำเงินจากส่วนอื่นมาสนับสนุน ไม่ใช่เงินที่นำมาจากการพนันหวยที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ในขณะนี้ การที่รัฐบาลอ้างว่าที่เข้ามาทำเองเพราะประชาชนเล่นกันอยู่แล้ว จึงต้องนำหวยใต้ดินมาบนดินนั้น รัฐบาลก็ควรจะพูดต่อด้วยว่าเมื่อรัฐบาลทำแล้วก็ต้องพยายามทำให้การซื้อหวยของประชาชนลดลง รัฐบาลควรทำเฉย ๆ ไม่ต้องหาอะไรไปล่อใจ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลทำไปเรื่อย โดยมีการออกรางวัลพิเศษ มีแรงจูงใจอื่น ๆ มาเชิญชวนอีก เรียกง่าย ๆ ก็คือรัฐบาลไม่ควรจะมีมาตรการเชิงการตลาดออกมาโดยเฉพาะมีการออกโฆษณาออกมาว่าซื้อหวยช่วยชาติ

ที่สำคัญคือ การให้ทุนเด็กนักศึกษาที่เรียนดีแต่ไม่มีทุนนั้น ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำยังไม่ดีพอ มองแล้วเป็นนโยบายประเภทด่วนทำ ทำเร็ว ทำเยอะ การจัดการยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะการจัดสรรทุนที่เป็นไปอย่างเหมารวม ยังไม่มีจิตสำนึกความรับผิดชอบ เป็นการบริหารที่ดูแต่เรื่องเงินเป็นหลัก และรัฐบาลควรเอากรณีของนักเรียนทุนหวยที่เสียชีวิตคนนี้มาเป็นบทเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหันมาดูว่าควรจะมีการปรับปรุงจุดอ่อนของโครงการอย่างไร อย่างน้อยควรต้องปรับพื้นฐานให้เด็กทุนเหล่านี้ก่อนส่งไปเรียนต่อในต่างประเทศ

ด้านนางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นอุธาหรณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแล และเอาใจใส่นักศึกษาในโครงการ1อำเภอ1ทุนให้มากขึ้น เพราะเด็กที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในชนบท ไม่เคยจากบ้านมาก่อน และเด็กอาจจะยังอายุน้อยเกินไป ดังนั้นอาจจะต้องมีการทบทวนการให้ทุนครั้งต่อไปว่าควรจะให้ทุนหรือระดับสูงกว่านี้แทนหรือไม่ หรือให้มีการเตรีมความพร้อม โดยให้เข้ามาอยู่หอพักในกรุงเทพเพื่อเรียนภาษาก่อนประมาณ 1-2 ปี อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการดำเนินการโครงการที่ผ่านมามีประสิทธิภาพมาก เพราะทุกอย่างทำได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน และการคัดเลือกผู้รับทุนก็ไม่มีการเล่นเส้นสายหรือมีการร้องเรียนเข้ามาเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น