ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเลยจุดวิกฤต กลายเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่ตื่นเต้นกับปัญหา ทำใจ ปล่อยชีวิตใครชีวิตมัน ในขณะที่วัยรุ่นยังมีเพศสัมพันธ์ที่สับสน ไม่แน่ใจว่าใช่ความรักหรือไม่ ทั้งๆที่ลึก ๆ แล้ววัยรุ่นต้องการความรัก แต่ไม่รู้ว่าถูกรักเป็นอย่างไร สำหรับการทบทวนหลักสูตรเพศศึกษาไม่ช่วยแก้ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น แต่ควรสร้างสื่อนวัตกรรมให้เด็กเรียนรู้ ส่วนสื่อมุ่งสอนแต่การบริหารจัดการความรัก เมินมิติความเป็นมนุษย์จนเด็กไม่มีทางเลือก
ในการสัมมนา เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม : เด็กไทยกับวัฒนธรรมแห่งเสรีภาพและการแสดงออกทางเพศ พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องเพศในวัยรุ่นคงไม่ใช่เรื่องวิกฤติแล้ว เพราะเกิดมานานแล้วเป็น 10 ปี แต่จะมองในเชิงสถานการณ์ ว่า ระยะหลังไม่ค่อยได้รับคำปรึกษาจากพ่อแม่ในเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าทำใจได้แล้วว่าชีวิตใครชีวิตมัน เหมือนกับว่าพ่อแม่ไม่ค่อยตื่นเต้นกับเรื่องนี้ ทั้งที่รู้เห็นความเป็นไป หรือไม่อยากมีปัญหา ไม่รู้จะพูดอย่างไร จึงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
ทั้งนี้ จากที่ได้รับคำถามทางอีเมลเข้ามาทางเว็บไซต์จากวัยรุ่นจำนวนมากพบว่า แม้จะมีคำถามจากวัยรุ่นมากเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ความรัก แต่ก็มีคำตอบจากเด็กส่วนหนึ่งว่าเพศสัมพันธ์ที่เกิดไม่ได้มาจากความตั้งใจทั้งหมด แต่อาจจะถูกกระตุ้น ล่วงละเมิด หรือกลัวแฟนทิ้ง ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่า จะใช้คำว่าเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศของเด็กไทยได้หรือไม่ แต่สิ่งที่พบแน่นอน คือวัยรุ่นมีความสับสนในเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหลักจิตวิทยาความรู้สึกภายในลึก ๆ ของมนุษย์จะนำไปสู่การแก้พฤติกรรมภายนอกได้ ซึ่งวัยรุ่นต้องการความรัก การเรียนรู้ที่จะรัก รักตัวเอง แต่ไม่รู้ว่ารักตัวเองอย่างไร เพราะอาจไม่เคยถูกรัก ดังนั้นทำอย่างไรจะทำให้เด็กรู้คุณค่าของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การดูแลตัวเอง
“เด็กเสียใจและมีความทุกข์ร้อนเรื่องเพศมากพอสมควร แท้จริงแล้วเด็กกลุ่มใหญ่มีทัศนคติและค่านิยมทางเพศแบบดั้งเดิมอยู่ตลอดเวลาเหนียวแน่น ผู้ชายหรือผู้หญิงก็มีคำถามแปลก เช่น ผู้หญิงอยากมีเพศสัมพันธ์ และถามว่าเขาไม่รักหนูหรือคะ เพราะอยู่กันสองต่อสองแล้วเขาไม่เคยแตะเนื้อต้องตัวหนูเลย เขารักหนูหรือไม่ หรือผู้หญิงมีรักหลายคนโดยบอกว่าหนูชอบคนนี้เพราะเติมเต็มด้านนี้ ส่วนอีกคนก็อีกด้านหนึ่ง ขณะที่ความจริงเพศสัมพันธ์จะต้องอาศัยการเรียนรู้ยอมรับบางส่วนหรือปรับในบางเรื่อง และยังมีกลุ่มเพศที่สาม ถามคำถามเข้ามามาก เนื่องจากแทบจะไม่มีใครให้ความรู้ต่อการเรียนรู้และวัฒนธรรมทางเพศของเขา และทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาเพศสัมพันธ์ก็มักจะไปลงเลยด้วยการให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนหลักสูตรเพศศึกษา ก็จะทบทวนกันไปเป็นปี ๆ แล้วก็หายไป ซึ่งจะให้ทบทวนกี่รอบก็ไม่ได้ผลก็รู้กันอยู่ จริง ๆ แล้วควรมีสื่อนวัตกรรมของเพศศึกษาให้เด็กได้เรียนรู้ สร้างกลุ่มให้เด็ก” พญ.พรรณพิมล กล่าว
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า งานวิจัยของวัยรุ่นมีแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ไม่มีมิติของอารมณ์ เพราะปัญหาของวัยรุ่นมีแนวความคิดของความโรแมนติกอยู่ เมื่อมีความรักก็ไม่แน่ใจว่ารักหรือไม่รักกันแน่ ขณะที่เด็กที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมจะมองว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ทำผิด ดังนั้นสภาพการณ์ของวัยรุ่นไทยเหมือนกับจะวิ่งไปด้านใดด้านหนึ่ง จะเสรีหรือไม่เสรี ทำให้สับสนมาก รวมทั้งสื่อที่เผยแพร่ก็จะยึดอยู่ในกรอบเดิม ใส่ความคิดให้เด็ก ตัดสินแทนเด็ก โดยเฉพาะจากผลที่นิสิตลงไปสำรวจข้อมูลนิตยสารในปัจจุบัน พบว่า มีแต่การสอนให้บริหารจัดการความรัก ความสุขทางเพศ ไม่ได้มองมิติความเป็นมนุษย์ จนเด็กไม่มีทางเลือก แต่เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาเพศ จะแก้ในเชิงอำนาจการควบคุม ไม่ได้พูดถึงแนวความคิดที่ตัวเองมี การปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างไร เพราะแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน รวมทั้งต้องเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นได้พบปะกันในกลุ่มที่มีปัญหาเหมือนกันได้มาช่วยกันหาทางออกและสร้างเครือข่าย ถ้าเมื่อไรที่จะไปสร้างสื่อเฝ้าระวังก็ใช้ไม่ได้ เหมือนกับการจะไปจับผิด ลงโทษ ประณาม เหมือนที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้จนเด็กไม่ค่อยสนใจอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะมีแต่เรื่องตัดสินความผิดของเด็ก
รศ.ชาย โพธิสิตา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง ผู้ชายหรือผู้หญิงมีคู่หลายคน ไม่ใช่ของใหม่มีมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่ทัศนคติไม่มากเหมือนสมัยนี้ และสมัยก่อนจะมีกรอบครอบครัว ชุมชน ประเพณี เข้าไปควบคุม แต่ปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น ยึดถือตัวเองสำคัญที่สุด คนอื่นหรือครอบครัวมาทีหลัง การแก้ปัญหาต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งคำว่าชุมชนไม่ได้หมายว่าครอบครัว แต่เป็นการรวมกลุ่มและมีสัมพันธภาพร่วมกัน
รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นจะต้องเริ่มที่การยอมรับและทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะหลายคนแก้ด้วยการควบคุมโดยคิดว่าตัวเองมีคำตอบ กลับเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มอีกหลายชั้น การสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมต้องมี แต่ต้องมีเด็กวัยรุ่นมาร่วมสร้าง เพราะหากผู้ใหญ่ไปสร้างให้จะไม่ได้รับการยอมรับ
ด้าน ผศ.ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ชุดโครงการสัมมนาเรื่อง “เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม” ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจะประมวลจากนักวิชาการและฝ่ายต่าง ๆ จนทำให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยโครงการสัมมนามีทั้งหมด 6 ครั้ง จัดไปแล้ว 4 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้ง คือ เด็กไทยในความหลากหลายและรอยร้าวทางวัฒนธรรม และสุดท้ายเป็นภาพรวมยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน จากนั้นจะสรุปเสนอกระทรวงวัฒนธรรม