xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคอเลสเตอรอลท่วมท้น...โอรีซานอลคือกุญแจแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุขภาพของคนไทยในยุคปัจจุบัน ตกอยู่ในสภาพที่บอกได้คำเดียวว่า ย่ำแย่ เพราะนอกจากจะมีภาวะโภชนาการที่ไม่สมดุลแล้ว ยังต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมและปัจจัยบีบรัดทางจิตใจที่ช่วยทำให้ร่างกายทรุดโทรมไปเป็นลำดับ ยิ่งบรรดามนุษย์เงินเดือนในเมืองด้วยแล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ โรคที่พึงระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่คนมักไม่ค่อยใส่ใจก็คือ ปัญหาคอเลสเตอรอล อันเป็นที่มาของ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ผศ.ดร. เรวดี จงสุวัฒน์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดของคนไทยว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้อาหารมีความหลากหลายและมีความสะดวกในการซื้อสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้แบบแผนการบริโภคอาหารของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ทำให้ได้รับกรดไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลมากขึ้น รวมทั้งมีการบริโภคน้ำตาลและโซเดียมเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ กิจกรรมประเภทที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวก็มีสูงขึ้น ทั้งการนั่งดูโทรทัศน์ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ การออกกำลังกายน้อยลง ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ เป็นสาเหตุทำให้อัตราความชุกของภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะน้ำ-หนักเกิน โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับพร้อมๆ กัน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

"การบริโภคอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ สำหรับปัญหาคอเลสเตอรอลสูง จะต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารประเภทไขมันเป็นพิเศษ โดยลดกรดไขมันอิ่มตัว ทั้งในส่วนที่มองเห็นได้ในเนื้อสัตว์ เช่น มันหมู หนังเป็ด หนังไก่ ซึ่งยังอาจไม่เพียงพอ ควรเลี่ยงการบริโภคน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงตัว ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ควรจะแทนที่ด้วยน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว มีผลในการลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี โดยไม่ลดคอเลสเตอรอลที่ดี"

"อย่างไรก็ตามกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว จะให้ประโยชน์ได้เต็มที่ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็ต่อเมื่อมีการจำกัดปริมาณไขมันที่บริโภค การลดกรดไขมันอิ่มตัวในอาหารลง และการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่บริโภค"

ด้าน รศ.นฤมล จียโชค รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายเกี่ยวกับ แกมมา-โอรีซานอล (Gamma Oryzanol) หรือ โอรีซานอลว่าเป็นสารธรรมชาติที่ถูกค้นพบครั้งแรกในน้ำมันรำข้าวเมื่อปี ค.ศ. 1954 โดยปริมาณโอรีซานอลที่ค้นพบในน้ำมันรำข้าวมีมากกว่าวิตามินอีประมาณ 20 เท่า ซึ่งน้ำมันรำข้าวเป็นแหล่งสำคัญที่พบโอรีซานอล

นอกจากนี้ ยังพบโอรีซานอลในธัญพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ และ Triticale อีกด้วย

สำหรับคุณสมบัติพิเศษของโอรีซานอลนั้น สามารถสรุปออกได้เป็น 4 ประการ ดังนี้

1. ทำหน้าที่เป็นสารแอนติออกซิแดนท์คล้ายกับวิตามินอี ในการลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น แต่แกมมาโอรีซานอลสามารถลดปฏิกิริยาออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลได้สูงกว่าวิตามินอี จึงนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่าง ๆ มากมาย

2. ลดการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับ และลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลของร่างกาย

3. ช่วยรักษาอาการของระบบประสาทที่ทำงานผิดปกติ และภาวะหลังหมดประจำเดือนที่แปรปรวน โดยคาดว่าน่าจะไปมีผลกับระบบฮอร์โมน

4. ช่วยส่งเสริมการสร้างกล้ามเนื้อ มักใช้กันมากในกลุ่มของนักกีฬา เนื่องจากมีผลต่อการปลดปล่อยสารเอนโดฟิน และการเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เนื่องจากโอรีซานอลมีประโยชน์หลายประการ จึงถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งทางด้านอาหาร เครื่องสำอาง และทางการแพทย์ โดยยืนยันได้จากงานทดลองที่มีเป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น