xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมให้เบิกค่าล้างไต 15,000 บาท ต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประกันสังคมอนุมัติให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบิกค่าล้างไต เดือนละ 15,000 บาท ทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง ถือเป็นทางเลือกของผู้ป่วย เตือนผู้เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหมั่นดูแลสุขภาพ คุมน้ำตาลและความดันให้ดี ลดความเสี่ยงไตวายเรื้อรัง

นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล อายุรแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไตทำหน้าที่กรองของเสียและขับปัสสาวะ เพื่อกำจัดน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีที่ร่างกายไม่ต้องการผ่านทางท่อไตสู่กระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ไตยังมีหน้าที่ปรับสมดุลของน้ำและสารเคมี สร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมความดันโลหิตและผลิตเม็ดเลือดแดง เมื่อไตผิดปกติทำให้ร่างกายกำจัดของเสียออกจากร่างกายไม่ได้ สมดุลเกลือแร่เสียไป ทำให้ตัวบวม พบได้ทั้งภาวะไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง โดยไตวายเฉียบพลันมีหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ โดยทั่วไปไตวายเฉียบพลันแพทย์รักษาให้หายขาดได้ ส่วนไตวายเรื้อรังมีหลายสาเหตุเช่นกัน แต่สาเหตุที่พบบ่อยคือ ผู้เป็นเบาหวานเกินกว่า 10 ปี มีโอกาสไตวายเรื้อรังได้สูง คุมความดันโลหิตสูงไม่ดี การรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ไตวายระยะแรกแทบไม่แสดงอาการ ต้องเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะ จึงจะวินิจฉัยได้ ส่วนใหญ่อาการไตวายจะแสดงอาการเมื่อไตทำงานได้แต่ร้อยละ 15 เท่านั้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาหรือให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง เน้นหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เมื่อไตทำงานได้น้อยกว่าร้อยละ 10 จึงจะพิจารณาฟอกไต เพื่อยืดอายุการทำงานของไต ซึ่งระยะนี้คนไข้จะอ่อนเพลีย คลื่นไส้ บวม ซีด เหนื่อยง่าย

“การรักษาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มี 3 วิธีคือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต จะพิจารณาคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ได้รับการบริจาคไต กินยากดภูมิต้านทานได้ มีผู้ขึ้นทะเบียนรอรับการบริจาคไตประมาณ 1,000 คน อีกวิธีคือ การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม ส่วนใหญ่เรียกว่า ฟอกเลือด วิธีสุดท้ายคือ การล้างไตทางช่องท้อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประกันสังคมอนุมัติให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบิกค่าล้างไตได้ทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง เดือนละ 15,000 บาท จากเดิมเบิกได้ 12,000 ต่อเดือน ถือเป็นทางเลือกของผู้ป่วยโรคไต” นพ.ศุภชัย กล่าว

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมหรือฟอกเลือด เป็นการขจัดของเสียที่คั่งค้างในร่างกายโดยใช้เครื่องไตเทียมเพื่อดึงน้ำและของเสียออกจากเลือดของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดที่แขน สำหรับรับการฟอกเลือด ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 4-5 ชั่วโมง การล้างไตลักษณะนี้ต้องไปทำที่โรงพยาบาล

ส่วนการล้างไตทางช่องท้อง เป็นการขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดหรือเจาะช่องท้องเพื่อใส่สายยางพิเศษ สำหรับใส่น้ำยาล้างไต ซึ่งปลายสายข้างหนึ่งอยู่ในช่องท้อง อีกข้างแทงผ่านผนังหน้าท้องออกนอกผิวหนังต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย ปลายด้านนี้สำหรับต่อกับถุงน้ำยาล้างไต เมื่อใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายแลกเปลี่ยนของเสียผ่านเยื่อบุช่องท้อง ของเสียจะอยู่ในน้ำยาล้างไต ทำให้ของเสียในเลือดลดลง เวลาจะถ่ายน้ำยาออกจากช่องท้องก็ใช้วิธีกาลักน้ำคือ วางถุงน้ำยาในตำแหน่งที่ต่ำกว่าช่องท้อง ถ้าจะใส่น้ำยาให้วางถุงสูงกว่าช่องท้องคือสูงกว่าสะดือ วิธีนี้ผู้ป่วยทำได้เองที่บ้าน ฟอกล้างไตได้ 4-5 ครั้งต่อวัน ล้างไตที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปทำที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะแนะนำเรื่องความสะอาดและกรรมวิธีล้างไตที่ถูกต้องให้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยระบุว่า มีคนไข้ไตวายเรื้อรังทั่วประเทศ ประมาณ 5,000 คน เข้ารับการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วนการล้างไตทางช่องท้องมีประมาณ 1,000 คน สำหรับค่าใช้จ่ายในการล้างไตทั้ง 2 วิธีตกประมาณ 20,000 – 25,000 บาทต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น