xs
xsm
sm
md
lg

เตาเผาศพปลอดมลพิษ นวัตกรรมแห่งความตายฝีมือคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากพูดถึงปัญหาของเมืองใหญ่ "มลภาวะทางอากาศ" จัดเป็นปัญหาแรกๆ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง เพราะเมืองใหญ่ทั้งหลายต่างเจอปัญหานี้ทั้งนั้น และเมื่อพูดถึงมลภาวะทางอากาศ สิ่งที่เมืองสำคัญๆ ต้องประสบก็คือ ควันจากท่อไอเสีย ก๊าซพิษ ละอองฝุ่นและควันในอากาศ


แต่สำหรับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นอกเหนือจากมลภาวะทางอากาศที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีเรื่อง "ควันจากเตาเผาศพ" เพิ่มมาด้วย เนื่องเพราะวัดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฌาปนสถานของคนที่อยู่ละแวกใกล้เคียง มักจะตั้งอยู่ในชุมชน

เรื่องควันจากเตาเผาศพนี้ ใครที่คิดว่าไม่สำคัญคงต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะเรื่องนี้เคยเป็นกรณีขัดแย้งระหว่างวัดกับชุมชนย่านคลองเตยมาแล้ว จนร้อนถึง กทม. ที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหา

"เมื่อ 7-8 ปีก่อน ชาวบ้านเคยรวมกลุ่มประท้วงให้วัดหยุดเผาศพ เพราะควันจากการเผาศพฟุ้งกระจายไปทั่วชุมชน และกลิ่นนั้นก็ชวนให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อาตมาก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จะให้สัปเหร่อหยุดเผาศพ ญาติผู้เสียชีวิตก็จะว่าเลือกที่รักมักที่ชัง เรื่องนี้ยืดเยื้อมาเป็นปี จนชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว จึงไปร้องเรียนผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ยุคนั้น"

นั่นคือคำบอกเล่าจาก พระครูปลัดโสภณวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสะพานพระโขนง เขตคลองเตย ที่ยอมรับว่าเตาเผาศพสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านจริง เพราะเป็นเตาฟืนแบบเก่าและใช้งานมา 30 ปีแล้ว เมื่อเกิดปัญหาร้องเรียน ผู้ว่าฯ กทม.จึงเดินทางมาดูและจัดสรรงบให้ก้อนหนึ่งเพื่อสร้างเตาเผาศพปลอดมลพิษ ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2542 และใช้อยู่ในปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่ชาวบ้านร้องเรียนถึงปัญหามลพิษจากเตาเผาศพนี้เอง ทำให้ กทม.ตื่นตัวในเรื่องนี้และสั่งการเจ้าหน้าที่ให้สำรวจวัดทั้ง 309 แห่งทั่วกรุงเทพ พร้อมมีนโยบายให้วัดทุกแห่งเปลี่ยนมาใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษ ไร้กลิ่น ไร้ควัน ภายในปี 2547

จากการสอบถามไปยัง กทม.ครั้งล่าสุด พบว่ายังมีวัดอีก 40 แห่งที่ยังไม่เปลี่ยนเตาเผาศพเพราะไม่มีเงินซื้อ เนื่องจากราคาเตาเผาศพปลอดมลพิษจะอยู่ที่ 1.5 - 2 ล้านบาท/เตา

ส่วน กทม.จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้วัดเหล่านี้เปลี่ยนมาใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษ เจ้าหน้าที่ กทม.รายหนึ่ง เล่าว่า หลังจาก กทม.มีนโยบายให้วัดเปลี่ยนเตาเผาศพ ปรากฏว่ามีนายหน้าขายเตาเผาปลอดมลพิษเดินสายไปพบเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เมื่อทางวัดซื้อไปจึงพบว่าเป็นเตาเผาศพที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะยังมีควันและกลิ่นออกมาเกินมาตรฐานสากล และยังพบว่าเตาเผามีอายุใช้งานแค่ 2-3 ปีเท่านั้น

"เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทธรณ์แก่ผู้บริหารกทม. ว่าก่อนออกนโยบายใดควรคิดให้รอบคอบ เพื่อไม่เป็นการชี้โพรงแก่กลุ่มพ่อค้าที่หากินกับศพ ทางวัดก็ต้องใช้เงินที่ได้จากการบริจาคจำนวน 2 ล้านบาทไปซื้อเตาเผาศพที่ไม่ได้มาตรฐาน"

เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ยังบอกด้วยว่า วัดที่กำลังจะเปลี่ยนเตาเผาศพ ควรศึกษาก่อนว่าเตานั้นได้มาตรฐานหรือไม่ หากไม่มั่นใจก็ให้แจ้งมาที่กทม. เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญไปช่วยดูให้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สามารถประดิษฐ์เตาเผาศพปลอดมลพิษที่ได้มาตรฐาน และน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับวัดที่ต้องการเตาเผาศพเพื่อลดพลังงานและมลภาวะ

สาทิส ถาวรนันท์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ซึ่งเป็น ผอ.โครงการจัดสร้างเตาเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ กล่าวว่า ทางคณะได้พัฒนาเตาเผาศพเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้ติดตั้งแห่งแรกที่วัดสะพานพระโขนง กทม. เป็นเตาเผาแบบ 2 ห้องเผา คือ ห้องเผาหลัก ทำหน้าที่เผาไหม้ศพและโลงศพ ส่วนห้องเผารอง ทำหน้าที่เผาควันและกลิ่นก่อนที่จะปล่อยออกทางปล่องควัน

ทั้งนี้ ก่อนนำมาติดตั้งที่วัดดังกล่าว ได้มีการทดลองเผากว่า 50 ศพพร้อมวัดมลพิษทางอากาศ พบว่าปริมาณฝุ่นละออง 84.44 มก./ลบม. ขณะที่มาตรฐานกำหนดไว้ที่ 100 มก./ลบม. ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ วัดได้ 77.31 มก./ลบม. ซึ่งมาตรฐานกำหนดไว้ 200 มก./ลบม.

ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน วัดได้ 75.87 มก./ลบม. ที่มาตรฐานกำหนดไว้ 500 มก./ลบม. ส่วนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ วัดได้ 91.16 มก./ลบม. ซึ่งมาตรฐานกำหนดไว้ 100 มก./ลบม. จึงมั่นใจได้ว่าเตาเผาศพชนิดนี้จะไม่สร้างมลพิษทางอากาศแน่นอน

อาจารย์สาทิส บอกอีกว่า วัสดุก่อสร้างเตาเผาศพนี้เป็นอิฐทนไฟ และฉนวนกันความร้อนที่ผนังเหล็กกล้าสามารถสะสมความร้อนได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้เผาศพได้อย่างรวดเร็ว เตานี้สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ชนิด คือ ก๊าซหุงต้ม หรือน้ำมันดีเซล

"เตาเผาศพนี้ออกแบบให้ทนความร้อนกว่า 900 องศาเซลเซียส ทั้งที่มาตรฐานสากลกำหนดให้ใช้ความร้อนในการเผาที่ 860 องศาเซลเซียส เหตุที่ออกแบบให้ใช้ความร้อนสูงก็เพื่อช่วยให้การเผาไหม้รวดเร็วขึ้น และช่วยลดปัญหาเรื่องควันที่ถูกปล่อยออกมา ทั้งยังช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง กล่าวคือ เตาเผาศพทั่วไปจะใช้น้ำมันดีเซล 55-80 ลิตร ขณะที่เตาเผาศพชนิดนี้จะใช้น้ำมันเพียง 44 ลิตร"

อาจารย์สาทิส เล่าอีกว่า การพัฒนาเตาเผาศพชนิดนี้ต้องใช้เวลาศึกษาหลายปี และต้องใช้ทุนในการศึกษาค่อนข้างสูง แต่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงสามารถรศึกษา ทดลอง และพัฒนา จนได้มาตรฐานทัดเทียมระดับสากล

"ต้องยอมรับว่าราคาเตาเผาศพยังสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 ล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับต่างประเทศ แต่จุดนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่กระตุ้นให้นักวิจัยไทยหันมาสนใจ ค้นคว้า ประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาบริษัทที่ขายเตาเผาศพไม่ได้มาตรฐานด้วย" อาจารย์สาทิส กล่าวทิ้งท้าย

หากวัดใดต้องการติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษชนิดนี้ สามารถติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งคณะทำงานจะประดิษฐ์แล้วมาติดตั้งให้ พร้อมสอนวิธีใช้อย่างละเอียด เนื่องจากวงจรควบคุมการเผาติดตั้งระบบอัตโนมัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น