xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังเงินกวดวิชา 2,500 ล้าน : ภาพสะท้อนความอ่อนล้าระบบการศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคมีอาจารย์อุ๊....สังคม-ภาษาไทยอาจารย์ปิง....ฟิสิกส์หมอประกิตเผ่า....อังกฤษครูพี่แนน....ฯลฯ

ชื่อเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของเหล่า “อาจารย์กวดวิชา” ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่เด็กนักเรียนหลายยุค หลายสมัย บางรายสืบเนื่องกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อยังรุ่นลูก

ปรากฏการณ์ที่เด็กไทยหันไปใช้บริการโรงเรียนกวดวิชากันเป็นจำนวนมากนั้น ถือเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะมีอัตราความนิยมที่สูงลิบลิ่ว กระทั่งกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนมีข้อบกพร่องอย่างมากมาย

กำเนิดโรงเรียนกวดวิชา

จากรายงานการวิจัยของ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การกวดวิชาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย บันทึกเอาไว้ว่าการกวดวิชาเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช โดยชาวจีนที่มีฐานะดีได้จ้างครูจีนมาสอนภาษาจีนให้แก่บุคคลที่จะไปศึกษาต่อในประเทศจีน

ส่วนโรงเรียนกวดวิชาเริ่มปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนเมื่อปี 2497 โดยถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2497 มาตรา 20(5) ให้มีโรงเรียนกวดวิชา จัดเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทการศึกษาพิเศษ

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2520-2530 ซึ่งขณะนั้นพบว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันกันสูงมาก ผู้ที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมแทบทั้งสิ้น การกวดวิชาขยายวงกว้างมากขึ้นและส่งผลต่อการเรียนในโรงเรียนปกติ ทำให้เด็กไม่สนใจการเรียนในปีสุดท้ายก่อนการเอนทรานซ์ และก่อให้เกิดปัญหาครูในโรงเรียนเริ่มสอนในแนวกวดวิชามากขึ้น

ปี 2534 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักการให้เปิดโรงเรียนกวดวิชาได้แต่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่รัดกุมทั้งสถานที่ ผู้บริหาร อาคาร ฯลฯ จากนั้นในปี 2542 หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ความสนใจเรื่องกวดวิชาของเด็กกลับเพิ่มมากขึ้นอีก กระทั่งปลายเดือนมกราคม 2544 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนจึงได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทโรงเรียนกวดวิชาฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งมีมาตรการเชิงความปลอดภัยและคุณภาพสมบูรณ์ขึ้น

ยอดคนติว 4 แสนต่อปี

การกวดวิชาของเด็กไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่เรียนอ่อน แต่กลับพบว่าเด็กส่วนใหญ่ที่เรียนกวดวิชาเป็นเด็กที่เรียนเก่ง โดยมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.51-4.00 โดยมากเป็นเด็กนักเรียนสายวิทย์-คณิตฯ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่เรียนกวดวิชานั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การสอบเอนทรานซ์
จากงานวิจัยของ รศ.ดร.ไพฑูรย์ เรื่อง การกวดวิชาฯ นั้น พบว่า นักเรียน ม.4 มีการกวดวิชาขณะที่เรียนอยู่ในชั้น ม.3 ร้อยละ 53.4 ของนักเรียนทั้งหมด ในขณะที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปีที่ 1 มีการกวดวิชาขณะศึกษาอยู่ชั้น ม.6 ถึงร้อยละ 70.4 ทีเดียว แต่สำหรับภาพรวมของชั้นม.ปลายทั้งหมด พบนักเรียนเรียนกวดวิชาร้อยละ 54.3 โดยมีอัตราการเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในชั้นที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ วิชาที่นักเรียน ม.ปลายส่วนใหญ่นิยมเรียนกวดวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา สังคม และภาษาไทย ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะสละเวลาเล่นสนุกไปอยู่ในโรงเรียนกวดวิชาประมาณ 6-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเฉลี่ยนักเรียนแต่ละคนจะเรียนกวดวิชาประมาณ 4 วิชาต่อ 1 ปี โดยใช้เวลา 8 เดือนต่อปีในการเรียนกวดวิชา และจากการคำนวณทางสถิติประมาณการว่า มีเด็กนักเรียนจำนวนเกือบ 4 แสนคนที่พึ่งพาโรงเรียนกวดวิชาอยู่

สำหรับค่าเล่าเรียนกวดวิชาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 บาทต่อคอร์ส ซึ่งอาจจะพบราคาค่าเล่าเรียนที่สูงกว่านี้ได้ในโรงเรียนกวดวิชาที่ค่อนข้างได้รับความนิยมจนมีชื่อเสียง โดยราคาในรอบสอนสดโดยอาจารย์ผู้สอนกับรอบที่ให้นักเรียน เรียนจากวิดีโอเทป แต่ละคอร์สจะแตกต่างกันประมาณ 500-1,000 บาท ซึ่งหากประมาณการค่าใช้จ่ายในการกวดวิชา เฉพาะของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ มีเงินไหลเข้าสู่โรงเรียนกวดวิชาประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปีทีเดียว

กวดวิชาแบบไหนครองใจเด็ก

การแข่งขันสำหรับตลาดโรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบัน นับว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ ออกระเบียบที่ใช้ควบคุมโรงเรียนกวดวิชาเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น ทำให้อัตราการเกิดใหม่ของโรงเรียนกวดวิชาลดน้อยลงไป ขณะเดียวกันโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับความนิยมจากเด็กนักเรียนอยู่แล้ว ก็มักจะได้กระแสบอกต่อจากเด็กๆ ไปยังรุ่นน้อง ทำให้การเติบโตของโรงเรียนกวดวิชาอยู่ในรูปแบบการขยายสาขาไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะต่างจังหวัดมากกว่าการเปิดสถาบันแห่งใหม่ เพราะเหตุผลหลักของการเลือกเรียนกวดวิชากับสถาบันไหนเรื่องชื่อเสียงของสถาบันคือสิ่งที่เด็กจะคำนึงถึงมากที่สุด

แต่การทำให้ชื่อติดในหมู่นักเรียนก็ไม่ใช่ของง่ายนัก เพราะสิ่งที่ทำให้เด็กต้องมาเรียนกวดวิชาคือความแตกต่างจากการสอนในระบบ ซึ่งคุณสมบัติที่จะทำให้นักเรียนนำไปบอกต่อกันและกันคือ ผู้สอนต้องสอนเข้าใจง่าย สนุกและไม่น่าเบื่อ มีตัวอย่างข้อสอบและแบบฝึกหัดให้ฝึกทำ และมีสื่อการเรียนการสอนที่ดี

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า โรงเรียนกวดวิชาแทบทุกสถาบันมักจะหันมาพัฒนาหนังสือ ตำราเรียนที่ใช้ในการกวดวิชาด้วยตนเอง โดยทำออกมาให้เข้าใจง่ายมากที่สุดและมีรูปเล่ม สีสัน โดนใจวัยรุ่นอย่างแรง เรียกว่าฉีกภาพตำราเรียนแบบเดิมๆ ทิ้งไปเลยทีเดียว

หลายครั้งที่มีการถกเถียงและอภิปรายกันในแวดวงการศึกษาถึงปัญหาเรื่องเด็กจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่การกวดวิชา และมีความพยายามให้การกวดวิชาลดน้อยลง แต่ตราบใดที่ระบบการศึกษาไทยยังเป็นแบบแพ้คัดออก ทำให้นักเรียนต้องไขว่คว้าหาความรู้แบบอัดแน่น ซึ่งการศึกษาในระบบไม่สามารถสนองต่อความต้องการดังกล่าวได้ โรงเรียนกวดวิชาจึงยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเยาวชนเหล่านี้ เพื่อเป็นการการันตีว่าเขามีสิทธิที่จะได้รับที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐตามต้องการ

กำลังโหลดความคิดเห็น