xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์หอยทาก ชีวิตลี้ลับของสัตว์โลกตัวจ้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอยทากที่คลานช้าๆ ต้วมเตี้ยม ใครจะคิดว่ามันเป็นสัตว์โลกที่แสนลึกลับ น่าสนใจและน่าค้นหา ถึงขนาดในวงการวิทยาศาสตร์มีการตั้งกองทุนเพื่อวิจัยวิถีชีวิต การปรับตัวของหอยทาก

ส่วนในเมืองไทยของเราก็ไม่ใช่ย่อย เมื่อกำเนิด "พิพิธภัณฑ์หอยทากแห่งแรกของเอเชีย" ขึ้น เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ใฝ่รู้ได้เขาไปสัมผัสชีวิตของสัตว์โลกตัวจ้อยนี้ด้วย

ทำไมหอยทากสัตว์ตัวจิ๋วถึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้?
รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา แห่งภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านหอยทาก และต้นคิดพิพิธภัณฑ์ทาก เล่าให้ฟังว่า เมื่อมีการวิจัยอย่างจริงจังพบว่าเฉพาะในประเทศไทย มีหอยทากเกือบ 1,000 ชนิด แต่คนไทยกลับไม่ค่อยรู้จัก

เพราะหากพูดถึงหอยทากคนจะรู้จักแต่หอยอาฟริกา(African Giant Snail, Achatina fulica) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ แถมเจ้าหอยทากอาฟริกายังรับบทเป็นผู้ร้ายเพราะเข้ามาทำลายพืชผัก อาหาร อีกด้วย

"สิ่งที่ทำให้หอยทากเป็นสัตว์ที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การศึกษาก็คือ วิวัฒนาการและการปรับตัว หอยทากมีวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนบกได้สมบูรณ์ สามารถหายใจโดยใช้ปอดเหมือนมนุษย์ แถมยังสามารถดำรงชีวิตอยู่มาได้หลาย 100 ล้านปี การมีอายุยาวนานก็เป็นอีกปัจจัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง"

"เดี๋ยวนี้หลายองค์กรในต่างประเทศหันมาสนใจสัตว์ตัวจิ๋วนี้มากขึ้น โดยมีการวิจัยถึงสาเหตุที่หอยทากสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน การดำรงเผ่าพันธุ์ การแลกเปลี่ยนยีนส์ถึงขนาดจะนำเอามาประยุกต์ใช้กับมนุษย์ ฟังแล้วเหลือเชื่อแต่ตอนนี้เขาศึกษากันอยู่จริงๆ หอยทากจึงถือเป็นโมเดลอีกรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการวางแผนอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิต การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทัศนศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยา (Natural History) "

สำหรับจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์หอยทากนั้น อาจารย์ สมศักดิ์บอกว่า หลังจากที่ได้มีการทำการวิจัย ศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับหอยทากมานานนับสิบปี มีการเก็บสะสมตัวอย่างหอยทากนานาชนิดเป็นแสนชิ้น ตัวหอยที่ดองเก็บไว้โดยมีการบันทึก ผลิตเป็นรายงานวิจัยโดยบัณฑิตปริญญาโท-เอก ที่ได้รับการยอมรับเป็นผลงานระดับโลก จนจึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับเมื่อได้รับโอกาส มีพื้นที่และมีผู้สนับสนุน พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทยจึงกำเนิดขึ้น

พิพิธภัณฑ์หอยทากเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปี 2546 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์หอยทากบกแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่จัดแสดงนิทรรศการหอยทากที่พบในไทย โดยมีการจัดแสดงสองส่วน คือส่วนแสดง "แปลกแต่จริง" เป็นการจัดแสดงเน้นแสดงเปลือกหอยที่หลากหลาย ทั้งสวยงาม แปลกประหลาด มหัศจรรย์ โดยเฉพาะวงศ์หอยทากจิ๋วปากแตร ที่มีขนาดเล็กที่สุดเพียง 0.5 มิล (Family Pupillidae) วงศ์หอย ต้นไม้ หอยทากสวยงาม หรือหอยนก (Family Camaenidae) หอยหอม หอยงวงท่อ หอยหางดิ้น และหอยที่แลกเปลี่ยนกับต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 200 สปีชีส์

"เมื่อก้าวเข้ามาสู่ห้องพิพิธภัณฑ์ วิทยากรผู้ให้ความรู้จะแนะนำให้รู้จักหอยทั่วๆไปก่อน เราจะเริ่มรู้ว่าหอยมีกี่ชนิดอะไรบ้าง บทบาทและความสัมพันธ์กับมนุษย์ชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภคหรือแลกเปลี่ยนทางการค้า ถัดมาจึงจะได้ทำความรู้จักกับหอยทากจากขนาดเล็กที่สุดจนไปถึงขนาดที่ใหญ่ที่สุด สวยที่สุด ร้ายกาจที่สุด หรือแม้แต่หายากที่สุด นอกจากนั้น ยังมีการแสดงเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการหาหอยทากและหอยที่มีการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ทั้งยุโรป จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ"

อาจารย์สมศักดิ์ให้ภาพ สำหรับในส่วนที่สองเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการวิจัย เนื่องจากการวิจัยมีการพบหอยชนิดใหม่ของโลกมากกว่า 70 สปีชีส์ จึงเป็นที่เก็บรวบรวมของตัวอย่างต้นแบบ (Holotype และ Paratype) และเป็นแหล่งเก็บดีเอ็นเอของหอยนกสกุล Amphidromus ที่ถือได้ว่ามากชนิดและเก็บได้ดีที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังมีการแสดงผลงานเผยแพร่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติเป็นจำนวนมาก
อาจารย์สมศักดิ์ บอกอีกว่า การเข้าชมพิพิธภัณฑ์หอยทากนอกจากจะได้เห็นตัวตนของหอยทากแล้ว ยังได้มีโอกาสย้อนไปยังเรื่องราวในอดีตหรือวิวัฒนาการของโลก ที่ทำให้ตัวตนเหล่านี้ได้เกิดและดับอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างเรา ๆ ได้อย่างกลมกลืน

"ความจริงพิพิธภัณฑ์ไม่ได้สร้างเพื่อให้มาดูของเก่าๆ หรือตัวอย่างที่ไร้ชีวิต คนไทยชอบคิดว่าการมาพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนมาดูซากเป็นความคิดที่ผิด เพราะเมื่อเราได้เข้ามาสัมผัสอีกแง่มุมชีวิตของเพื่อนร่วมโลก เราได้มองเห็นอดีต มองเห็นปัจจุบัน และอนาคต ที่โยงใยด้วยธรรมชาติและระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ พิพิธภัณฑ์ถือเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา ที่เกิดจากการสั่งสมเป็นองค์ความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้ ถ้าไปแล้วเพียงแค่มอง แต่ไม่ด้สัมผัสจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดออกมา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร"

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Natural History Museum of Chulalongkorn University) ซึ่งเป็นศูนย์กลางความรู้มีตัวอย่างของทรัพยากรธรรมชาติวิทยาใช้เป็นสถานที่ศึกษาอ้างอิง ค้นคว้า วิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งภายใน พิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยาก็ประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์แมลง พิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าชมสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-2218-5375-6 ตั้งอยู่ที่ชั้นสอง ห้อง 218 ตึกชีววิทยา 1 (ตึกขาว) คณะวิทยาศาสตร์ หากมีการติดต่อล่วงหน้าผ่านภาควิชาชีววิทยา จะมีการจัดวิทยากรบรรยาย และตอบคำถามด้วย
หอยทาก... ชีวิตต้วมเตี้ยมที่ไม่ธรรมดา

หอยทากเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อุบัติขึ้นบนโลกเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว จากรายงานการวิจัยพบว่า นับตั้งแต่หอยทากเริ่มมามีชีวิตบนบก (land snails) เมื่อราวๆ ตอน กลางของมหายุคพาลิโอโซอิค (Paleozoic Era) ซึ่งเป็นช่วงหลังจากกำเนิดแมลงเพียงเล็กน้อย แล้วค่อยๆ มีวิวัฒนาการพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของเขาหินปูน

เมื่อเขาหินปูนมีการผุกร่อนเปลี่ยนแปลงจึงเห็นความผันแปร และส่งผลให้หอยทากมีความหลากหลายสปีชีส์ นอกจากหอยทากบกที่เกิดอยู่มากมายแล้ว หอยทากต้นไม้ (tree snails) ซึ่งเป็นหอยที่มีความสวยงาม ถูกสันนิษฐานว่า เกิดขึ้นหลังจากยุคน้ำแข็งในช่วงไพลส์โตซีน (Pleistocene) ที่เกิด ความอบอุ่นขึ้นบนโลก เกิดความหลากหลายของพืชพันธุ์ต่างๆทำให้หอยทากมีทางเลือกของชีวิตมากขึ้น

ดังนั้น การวิวัฒนาการจึงเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาจเรียกได้ว่าการปรับตัวและวิวัฒนาการนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ลูกศรของวิวัฒนาการจะมีการไปกลับตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสถาน สภาพแวดล้อม การปรับตัวในขณะนั้น

เรื่องราวของหอยทากและทุกสรรพสิ่งในโลก จึงเป็นที่น่าค้นหาอย่างยิ่ง

ปัจจุบันหอยทากมีมากกว่า 700 ชนิด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของระบบนิเวศน์

ลักษณะสำคัญของหอยทากคือ มีลำตัวอ่อนนิ่ม มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น มีต่อมเมือก บางชนิดมีเปลือกแข็ง หุ้มทั้งแบบฝาเดี่ยวและฝาคู่ มีหัวด้านหน้าลำตัวสั้น ด้านล่างมีแผ่นเท้าขุดฝังตัวและใช้ว่ายน้ำ เปลือกแข็งที่หุ้มถูกสร้างจากเยื่อแมนเทิล (Mantle) มีระบบหมุนเวียนเลือด มีหัวใจอยู่ด้านบนและมีเส้นเลือดนำเลือด ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ บางชนิดหายใจด้วยเหงือก บางชนิดมีถุงหายใจคล้ายปอด บางชนิดหายใจด้วยปอด มีไตเป็นอวัยวะขับถ่าย ถือเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกเดียว เท่านั้นที่ใช้ไตในการขับถ่าย มีปมประสาท 3 คู่ มีเส้นประสาทเชื่อมระหว่างปมประสาท มีอวัยวะรับภาพ รับกลิ่น และการทรงตัว

หอยทากสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือหอยทากบกและหอยทากต้นไม้ และยังมีการแบ่งตามลักษณะของการกินด้วย โดยแบ่งเป็นพวกที่กินพืช เช่น เชื้อรา ใบพืช พวกที่กินซากเป็นนักล่า อาจกินกันเอง กินแมลง อีกพวกคือกินได้ทั้งพืชและซาก

สำหรับวงจรชีวิตของหอยทากนั้น เนื่องจากเป็นสัตว์ชั้นต่ำจึงมีอายุไม่ยืนเฉลี่ยตัวหนึ่งมีอายุประมาณ 4-5 ปี หอยทากเป็นสัตว์ที่ 2 ปีแรกเติบโตเร็วมาก มีการสืบเผ่าพันธุ์ด้วยการวางไข่ หอยทากจะออกไข่ครั้งละมากๆ แต่กว่าจะเจริญเติบโตจะต้องต่อสู้ดิ้นร้น เพราะมีศัตรูธรรมชาติมาก หอยทากจึงกลายเป็นผู้ถูกล่าเป็นอาหารให้สัตว์อื่นได้เติบโตขึ้นมาบนโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น