xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติ 7 วิธี "การล้างมือ" เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายคนอาจจะคิดว่า การล้างมือใครๆ ก็ทำได้ ไม่เห็นจะต้องวุ่นวายหรือศึกษาหาวิธีให้เสียเวลาแต่ประการใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การล้างมือเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ต้องบอกว่า ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

เพราะถ้าหากล้างถูกๆ ผิดๆ หรือล้างไม่สะอาดแล้ว ก็จะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องบัญญัติหลักวิชาการขึ้นมาเป็นการเฉพาะจำนวน 7 ขั้นตอนด้วยกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ออกมารณรงค์เรื่องการล้างมือให้ถูกต้องไม่ใช่ใครอื่น แต่คือนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นั่นเอง

หมอวัลลภบอกว่า การไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือล้างอย่างไม่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สำหรับขั้นตอนของการล้างมือให้สะอาดและถูกวิธี มีอยู่ 7 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1. ฝ่ามือถูกัน 2.ฝ่ามือถูหลังมือและถูซอกนิ้วมือ 3.ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4.หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5.ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6.ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ 7.ถูรอบข้อมือ โดยทั้ง 7 ขั้นตอนของการล้างมือนั้นจะใช้สบู่หรือเจลก็ได้ แต่น้ำที่ล้างมือขอให้มีความสะอาดก็พอ

"ที่ผมอย่างเตือนอีกอย่างหนึ่งก็คือ บรรดาวัยรุ่นที่นิยมแฟชั่นการไว้เล็บยาว ชอบต่อเล็บและแต่งสีเล็บ และมักจะไม่ค่อยล้างมือเนื่องจากกลัวสีเล็บหลุดลอก ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงฉับพลันได้ เนื่องจากเชื้อโรคจะติดอยู่ตามซอกเล็บ ง่ามนิ้ว ดังนั้น ต้องเพิ่มความระมัดระวังความสะอาดมือและเล็บให้มากขึ้น เพราะแฟชั่นต่างๆเหล่านี้อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายกว่าคนที่เล็บสั้น และในแต่ละวันเราจะต้องใช้มือสัมผัสอะไรต่างๆมากมาย"

ด้านน.พ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อยากให้คนไทยมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดี ซึ่งทางกระทรวงได้กำหนดสุขบัญญัติแห่งชาติเอาไว้ทั้งหมด 10 ข้อ ได้แก่
1.ดูแลร่างกายและของใช้ให้สะอาด
2.รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
3.ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย
4.กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
5.งดสูบบุหรี่ สุรา ยาเสพย์ติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ
6.สร้างความสัมพันธ์ให้อบอุ่น
7.ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท
8.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี
9.ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
10.มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม

"ถ้าทุกคนมีปฏิบัติตาม และก่อให้เกิดจิตสำนึกอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัยตามแนวทางแห่งสุขบัญญัติทั้ง 10 ข้อแล้ว ก็จะสามารถป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้"น.พ.เรวัตให้คำแนะนำ

.....กระทรวงสาธารณสุขเล่นลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์กันขนาดนี้แล้ว เราๆ ท่านๆ ที่ยังทำตัวผิดหลักการอยู่ ก็น่าจะน้อมรับมาประพฤติปฏิบัติกันบ้าง เพราะผลดีไม่ได้เกิดกับใครอื่น แต่เกิดกับตัวเรานั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น