xs
xsm
sm
md
lg

ปริญญาตรีวิชากอล์ฟ...หลักสูตรเพื่อคนรักกอล์ฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กอล์ฟ"กีฬาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนชื่นชอบ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นกีฬาที่มีข้อจำกัดน้อย เล่นกันได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กที่เริ่มจับไม้กอล์ฟไปจนถึงผู้สูงอายุ แถมยังทำให้เกิดสมาธิ ทำให้มีสุขภาพดี บางคนยังใช้กีฬากอล์ฟเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว วันนี้กอล์ฟจึงไม่ได้เป็นเพียงกีฬาที่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม หากแต่ยังเป็นประตูที่เปิดไปสู่การสร้างอาชีพและโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่หลายคนอยากเข้าไปสัมผัส

ความนิยมที่นับวันจะมีมากขึ้นนี้เอง ทำให้มหาวิทยาลัยเปิดอย่าง "รามคำแหง" เตรียมที่จะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ที่ใช้ชื่อว่า สาขาวิชาการบริหารจัดการกอล์ฟขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนนักกอล์ฟ รวมทั้งผู้พิสมัยกีฬากอล์ฟ ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้กันอย่างเป็นระบบ

อาจารย์ชาคริส สกุลอิสริยาภรณ์ เลขานุการบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการกอล์ฟ เล่าความเป็นมาของหลักสูตรนี้ว่า แนวคิดริเริ่มเกิดจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นคนชอบตีกอล์ฟ ที่มองว่าความนิยมกอล์ฟในบ้านเราตอนนี้ เดินทางมาถึงจุดที่เมืองไทยต้องมีหลักสูตรการบริหารจัดการกอล์ฟ เพื่อสร้างบุคลากรมาสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับกอล์ฟแล้ว

เนื่องเพราะปัจจุบันเมืองไทยมีสนามกอล์ฟกว่า 200 แห่ง สนามไดร์ฟกอล์ฟอีก 300-400 แห่ง มีร้านค้าอุปกรณ์กอล์ฟเป็นพันแห่ง มีคนเล่นกอล์ฟอีกนับแสนคน แถมยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเล่นกอล์ฟในเมืองไทยอีกกว่าแสนคน มีผู้ประกอบอาชีพอยู่ในวงการกอล์ฟนับหมื่นคน และยังมีสัดส่วนการขยายตัวได้อีกมาก

แต่เมืองไทยยังไม่มีหลักสูตร หรือสถาบันการศึกษามารองรับคนกลุ่มนี้ ทำให้เราไม่มี ครูสอนกอล์ฟ นักกอล์ฟ หรือคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกอล์ฟ อย่างมืออาชีพจริงๆ ดังนั้น รามคำแหงจึงควรเปิดหลักสูตรเพื่อมารองรับตรงจุดนี้

"เดิมทีนั้นมีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะส่วนใหญ่จะคิดกันว่ากอล์ฟเป็นกีฬาของคนรวย ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เพราะกอล์ฟมีหลายระดับ สนามก็มีให้เลือกตั้งแต่ราคาครั้งละ 50 -1,000 บาท อุปกรณ์ก็มีตั้งแต่ราคาไม่กี่พันไปถึงแสน จึงอยู่ที่ผู้บริโภคว่าจะวางตัวเองไว้ตรงจุดไหน

"หรือบางคนถามว่าเป็นแค่กีฬาทำไมต้องสอนถึงปริญญาตรี ผมขอให้ดูตัวอย่างแมคโดนัล เขามีโรงเรียนสอนทำแฮมเบอร์เกอร์โดยเฉพาะ ทำไมเขาต้องมี ก็เพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นมืออาชีพ ส่วนที่บางคนถามว่าทำไมไม่เปิดสอนเทนนิส ฟุตบอล นั่นก็เป็นเพราะ กอล์ฟเป็นกีฬาที่มีธุรกิจต่อเนื่องมาก อย่างเทนนิสถ้าเริ่มมีอายุก็จะเล่นลำบากแล้ว" อาจารย์ชาคริส บอกเหตุผล
สำหรับบุคลากรที่จะมาสอนนั้น อาจารย์ชาคริส บอกว่า มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือส่วนแรกเป็นนักวิชาการด้านกายวิภาคศาสตร์และจิตวิทยา ซึ่งจะต้องเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ส่วนผู้สอนวิชากอล์ฟ ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญที่จบด้านกอล์ฟจากต่างประเทศโดยตรง หรือเป็นโปรชาวไทยที่มีอยู่ อีกส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มีความรู้ด้านนี้

ส่วนการเรียนภาคสนามเพื่อให้นักศึกษาได้ปฎิบัติจริงๆ นั้น ถือเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว โดยจะใช้สนามไดร์ฟเป็นที่ฝึกทักษะเรียนรู้ที่ได้จากทฤษฎี ส่วนการลงสนามจริงๆ คงต้องมีการเช่าสนามเพื่อให้นักศึกษาชั้นปี 3 และ 4 ได้เรียน ขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงได้แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาแน่นอน

หลักสูตรสาขาวิชาการบริหารจัดการกอล์ฟ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะเปิดเป็นครั้งแรกในปีการศึกษานี้ มีโครงสร้างหลักสูตรตั้งแต่วิชาทั่วไป วิชาเฉพาะ วิชาชีพ และวิชาเอก (กอล์ฟ) โดยกำหนดให้ศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับกอล์ฟ อาทิ การเล่นกอล์ฟ กายวิภาคศาสตร์ ระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อ จิตวิทยากอล์ฟ การออกแบบและจัดการสนามกอล์ฟ การจัดการคลับเฮ้าส์ การจัดการ Pro-Shop การออกแบบ และซ่อมไม้กอล์ฟ มารยาทในการเล่นกอล์ฟ และการบรรยายกอล์ฟ เป็นต้น โดยใช้เวลาเล่าเรียน 4 ปี

ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นจะคิดหน่วยกิตละ 800 บาท ค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคละ 2,500 บาท และค่าจัดการสอบไล่ภาคละ 800 บาทโดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายการเรียนภาคปฏิบัติ ค่าตำรา และอุปกรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรเฉพาะทางอีกด้วย

โดยจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกประมาณ 100-200 คน และผู้ต้องการเข้ามาเรียนต้องเป็นผู้ที่จบมัธยมปลายหรือเทียบเท่า หรือสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตในวิชาพื้นฐานได้ หรือเป็นข้าราชการระดับ 2 ขึ้นไปและจบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเคยเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างของรัฐที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 4 ปีและจบมัธยมต้นหรือเทียบเท่า หรือเป็นผู้ที่สภามหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้รับเข้าศึกษาได้

อาจารย์ชาคริส บอกด้วยว่า หลักสูตรนี้เปิดสอนกันที่สหรัฐฯ และถือเป็นหลักสูตรแรกในอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถพัฒนาวงการกอล์ฟและแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังตั้งเป้าที่จะส่งบุคลากรไปทำงานในต่างประเทศด้วย ซึ่งคาดว่าภายใน 6-7 ปีนี้ คนไทยที่มีความชำนาญเกี่ยวกับกอล์ฟจะมีออกไปสู่ตลาดแน่นอน

อาจารย์ชาคริสให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปกอล์ฟจะไม่ได้เป็นแค่กีฬาแล้วแต่จะเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย และผู้ปกครองที่บุตรหลานสนใจกีฬานี้ ก็ควรส่งเสริมให้เขาเข้ามาสู่วงการอย่างเป็นระบบ ผู้สนใจก็สามารถสอบถามได้ที่ ม.รามคำแหง

ขณะที่ เชาวรัตน์ เขมรัตน์ หรือโปรเชาว์ เจ้าของโรงเรียนสอนกอล์ฟเชาวรัตน์ หนึ่งในผู้ร่วมร่างหลักสูตรการบริหารจัดการกอล์ฟ มองว่า การเปิดหลักสูตรนี้ถือว่าดีมาก เพราะเมืองไทยยังไม่มีใครรู้เรื่องกอล์ฟจริง และคนที่อยากเรียนก็ต้องไปเรียนที่เมืองนอก ที่ผ่านมาจึงมีแต่คนรวยไปเรียนส่วนเยาวชนที่สนใจกอล์ฟ เมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องไปเรียนวิชาอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกอล์ฟ เมื่อเรียนหนักก็ไม่ได้ซ้อมเล่นกอล์ฟ ทำให้ไม่พัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง หากเด็กเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้กีฬากอล์ฟจนเชี่ยวชาญ เขาก็สามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับกอล์ฟจนเป็นมืออาชีพได้ไม่ยาก

"กีฬากอลฟ์ในบ้านเรายังขยายได้อีกมาก ทุกวันนี้กอล์ฟบูมแต่ในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดไม่บูมเท่าไหร่ เพราะคนทั่วไปไม่คิดว่ากีฬากอล์ฟจะทำเงินเข้าประเทศได้มากมาย ทั้งที่แต่ละปีจะมีชาวเกาหลีเข้ามาเล่นกอล์ฟในไทยประมาณ 3 หมื่นคน ใช้จ่ายกันคนละ 30,000-50,000 บาท ลองคำนวนดูว่าเป็นเงินมากมายแค่ไหน ไหนจะชาวยุโรป อเมริกาอีกหลายแสนคน นี่ยังไม่รวมรายได้ด้านการท่องเที่ยว"

โปรเชาว์ บอกด้วยว่า การจะสร้างรายได้จากกอล์ฟให้มากขึ้น ต้องมีการเพิ่มศักยภาพในการดูแลสนามให้สวย มีระบบจัดการสนามแบบอินเตอร์และเป็นมืออาชีพ เพราะไทยมีข้อดีคือมีแคดดี้ เพราะในต่างประเทศจะไม่มีแคดดี้ให้ ผู้เล่นต้องลากรถเล่นเอง และว่า การจะพัฒนากอล์ฟนั้นไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลย เพียงแต่ดูแลรักษาของเดิมที่มีอยู่ ให้ดีขึ้น แค่นี้ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากกีฬากอล์ฟ และยังจะทำให้ไทยเป็นผู้นำกีฬากอล์ฟในเอเชียด้วย

ด้าน ชัชพงษ์ บูรณะโสภณ หรือนุ๊ก หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง และได้มาสมัครเรียนสาขาการบริหารธุรกิจกอล์ฟ บอกว่า เล่นกอล์ฟมาตั้งแต่อยู่ ม.1 เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะไม่มีทางเลือก เมื่อมีการเปิดสอนกอล์ฟก็มาสมัครและตั้งใจจะเทียบโอนหน่วยกิตที่เรียนมาแล้ว 1 ปี เพราะหากไปเรียนในต่างประเทศจะเสียเงินแพงมาก โดยอนาคตอยากเป็นผู้สอนอาชีพเพื่อฝึกสอนเด็กต่อไป


หลักสูตรวิชาจัดการกอล์ฟ
โครงการบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการบริหารจักการกอล์ฟ Bachelor of Business Administration (Golf Management) มีกำหนดเปิดสอนตั้งแต่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นไป เริ่มขายใบสมัครตั้งแต่ 28 เมษายน - 6 มิถุนายน 2547

คุณสมบัติผู้สมัครเข้าศึกษา

- จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า
- เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งและเงินเดือน ตั้งแต่ระดับ 2 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และจบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
- เป็น หรือเคยเป็น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างของรัฐ ซึ่งปฏิบัติงานมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่า 4 ปี และจบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
- เป็น หรือเคยเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเขต สมาชิกสภาตำบล หรือสมาชิกสภาบริหารส่วนตำบล หรือกรรมการสุขาภิบาล โดยปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ ต้องจบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
- เป็นผู้ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้รับเข้าศึกษา สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า (โดยการใช้สิทธิเทียบโอนหน่วยกิต ตามหลักเกณฑ์การเทียบโอนที่มหาวิทยาลัยกำหนด)

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา

- ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจ หรือโรคสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
- เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่บกพร่องในศีลธรรมอันดี
- ไม่เคยถูกไล่ออกจากสถาบันใดๆ เนื่องจากกระทำผิด หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ระบบการศึกษา

จัดระบบการศึกษาเป็นแบบทวิภาค (Semester system) โดยแบ่งเวลาศึกษาออกเป็น 2 ภาคเรียนปกติ คือ ภาค 1 (First Semester) ภาค 2 (Second Semester) และภาคฤดูร้อน (Summer Session)

โดยภาค 1 และภาค 2 ใช้เวลาภาคละ 18 สัปดาห์ (เรียนในชั้นเรียน 16 สัปดาห์ สอบไล่อีก 2 สัปดาห์) ภาคฤดูร้อน ใช้เวลา 8 สัปดาห์ (เรียนในชั้นเรียน 7 สัปดาห์ สอบไล่อีก 1 สัปดาห์)

อำนวยการศึกษาด้วยระบบสหวิทยาการ ระยะเวลาการศึกษา ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตวิชาการบริหารจัดการกอล์ฟ ใช้เวลาประมาณ 4 ปีการศึกษา และจะต้องสำเร็จการศึกษาภายใน 8 ปีการศึกษา นับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา (ยกเว้นนักศึกษาเทียบโอน) รายวิชาในหมวดต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น