xs
xsm
sm
md
lg

1 ล้านเสียงผู้ว่าฯ กทม. ใครจะมาลบสถิติสมัคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในครั้งที่ผ่านมา 23 กรกฎาคม 2543 ซึ่ง “นายสมัคร สุนทรเวช” ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นให้เข้ามาทำหน้าที่ประมุขทำเนียบเสาชิงช้าด้วยคะแนนสูงถึง 1,016,096 คะแนนนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด


เนื่องจากสามารถทิ้งห่างคู่แข่งขันไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอันดับ 2 และ 3 คือนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้เพียง 521,184 คะแนน และนายธวัชชัย สัจจกุลที่ได้ 247,650 คะแนน ขณะที่ผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือนายขจร ชูแก้วมีเพียง 84 คะแนนเท่านั้น

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ 1 ล้านคะแนนเศษๆ ของนายสมัครถือเป็นสถิติที่ไม่เคยมีทำได้มาก่อนอีกด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลไปที่กลุ่มงานเลือกตั้ง กองทะเบียนและปกครอง กทม. พบว่า คะแนนที่บรรดาผู้ว่าฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้รับนั้นอยู่ที่หลักแสนทั้งนั้น

กล่าวคือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน 99,247 คะแนน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ครั้งแรกได้ 480,233 ส่วนครั้งที่สองได้ 703,671 คะแนน ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา 363,668 คะแนน และนายพิจิตต รัตตกุล 769,994 คะแนน

ดังนั้น การที่จะมีผู้ได้รับคะแนนถึง 1 ล้านคะแนนเหมือนกับนายสมัครจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเท่าใดนัก ซึ่งบรรดาคอการเมืองคงต้องติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 2 ตัวเต็งเช่น นางปวีณา หงสกุลที่ปวารณาตัวเองเป็นผู้สมัครอิสระและนายอภิรักษ์ โกษะโยธินแห่งพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งบรรดาตัวเลือก ตัวประกอบที่เวลานี้ประกาศตัวกันอย่างคับคั่ง เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายพีระพงษ์ ถนอมพงษ์พันธ์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับชัยชนะก็มีสิทธิ์ที่จะลบสถิติของนายสมัครได้เช่นกัน เพราะตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีถึง 4.1 ล้านคนเศษ กระทั่งทำให้ต้องเพิ่มหน่วยเลือกตั้งเป็น 6,118 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 249 หน่วย

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ นั้น ก็เห็นจะเป็นเรื่องเงินค่าสมัครที่คราวนี้แตกต่างไปจากเดิมพอสมควร

นายสมชัย สุรกาญจน์กุล หัวหน้ากลุ่มงานเลือกตั้ง กองทะเบียนและปกครอง กทม.ให้ข้อมูลว่า ค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นไปมากพอสมควร กล่าวคือจากเดิม 5,000 บาท เป็น 50 ,000 บาท ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง กฎหมายเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 21 ล้านบาท แต่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กทม.ได้สรุปออกมาแล้วว่า ให้ใช้ได้ไม่เกิน 37 ล้านบาท แต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 1 ใน 3 ของเงิน 37 ล้านบาท หรือ 12,300,000 บาท

ขณะที่งบประมาณกลางที่เตรียมไว้สำหรับการเลือกตั้งนั้นตอนนั้นตั้งไว้ที่ 100 ล้านบาท แต่ตัวเลขตรงนี้สามารถยืดหยุ่นเพิ่มได้

“งบประมาณกลางที่ตั้งไว้นั้น ไม่ได้เป็นงบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อสะดวกในการใช้ เพราะการเลือกตั้งมี 2 แบบ แบบแรกจะเป็นการเลือกตั้งเมื่อครบวาระ 4 ปีส่วนแบบที่สองจะเป็นการเลือกตั้งซ่อม หากผู้ว่าฯกทม.ที่เลือกมาได้รับใบแดงจากการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

จึงจำเป็นต้องตั้งงบกลางไว้แต่หากปีไหนตั้งงบกลางไว้แล้วไม่มีการเลือกตั้ง ก็สามารถเอางบกลางที่ตั้งไว้ไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่จำเป็นก่อนได้ เช่น เอาไปช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น”

นายสมชัยบอกด้วยว่า การเลือกตั้งปี 2543 ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณในการเลือกตั้งที่ 84 ล้านบาท แต่ในปี 2547 ได้ตั้งงบไว้ที่ 100 ล้านบาทและสามารถขอเพิ่มได้อีก นอกจากนี้ ในกรณีที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจพบการทุจริตก็จะให้ใบแดง และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งงบกลางก็ต้องเพิ่มด้วย

“ไม่จำเป็นว่างบ 100 ล้านบาทนี้ทุกเขตจะได้เฉลี่ยเท่ากันเขตละ 20 ล้าน แต่เราจะพิจารณาการจัดสรรเงินโดยดูขนาดของเขตด้วยว่าเล็กใหญ่เพียงใด และเงินตรงนี้จะใช้ในการเป็นค่าตอบแทนของคณะกรรมการการนับคะแนน ค่าป้าย ค่าเช่าเต้นท์ ค่าเก้าอี้ ดินสอ ปากกา สมุด รวมทั้งอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการเลือกตั้ง เหตุที่งบกลางตั้งไว้แบบลอยตัวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเงื่อนไขของเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าจริงๆ ประชากรในเขตนั้นๆ มีการย้ายเข้าและย้ายออก ตัวเลขแกว่งเปลี่ยนไปตลอดเวลา จึงไม่สามารถวางงบตายตัวได้” นายสมชัยระบุ

สำหรับวันและเวลาในการเลือกตั้งนั้น กกต.กทม.ได้ประกาศหลักเกณฑ์ออกมาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดวันรับสมัครระหว่างวันที่ 7 มิ.ย.-11 มิ.ย.47 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร 723 อาคารศุภาคาร(ชั้น 3 ) ถ.เจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กทม.

กำลังโหลดความคิดเห็น