วันนี้( 27 ก.ค.)น.ส.อัจฉรพรรณ หอมรส สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมวุฒิสภาสัปดาห์หน้า ตนจะขอหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนในหลายพื้นที่ของภาคใต้และภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจาก พายุ และลมกระโชกแรงในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยพบว่า เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 67,000–82,000 ราย มีพื้นที่เกษตรเสียหายประมาณ 136,000–160,000 ไร่ ส่วนมูลค่าความเสียหายกำลังรอการตรวจสอบ
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ ต้นทุเรียนหักโค่น ผลผลิตหล่นเสียหายจำนวนมาก บางรายถึงกับสูญเสียรายได้หลักประจำปี หรือบางสวนพบความเสียหายนับ 10 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในพื้นที่ “เฉพาะจุด”หรือมีลักษณะ “ไม่ครอบคลุมพื้นที่ในระดับตำบลหรืออำเภอ” ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์การประกาศเขตภัยพิบัติทางการเกษตร ตามระเบียบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ. )และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กำหนดไว้ ผลที่ตามมาคือ เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายเฉพาะจุดเหล่านี้ กลับไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งที่ความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ต่างจากพื้นที่ภัยพิบัติแต่อย่างใด
น.ส. อัจฉรพรรณ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควร ทบทวนเกณฑ์การประกาศภัยพิบัติให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่มีลักษณะการเพาะปลูกแบบรายบุคคลกระจายตัว และควรมี กลไกเยียวยาเฉพาะราย (Individual Crop Loss Relief) สำหรับกรณีที่ความเสียหายรุนแรงแม้จะไม่กระจายกว้าง นอกจากนี้ควรพิจารณาให้มี กองทุนฉุกเฉินระดับท้องถิ่น หรือ ประกันภัยพืชผลภาคบังคับในบางพื้นที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่เกษตรกร
“เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของประเทศ เราไม่ควรให้ความช่วยเหลือถูกจำกัดด้วย “เงื่อนไขของพื้นที่” จนลืม “ความเดือดร้อนที่แท้จริง”ของประชาชน”และขอฝากเรื่องนี้ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมาธิการที่ดูแลด้านเกษตรกรรมและภัยพิบัติ ร่วมหารือเพื่อ ปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติให้มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และเป็นธรรม แก่เกษตรกรทั่วประเทศ“ น.ส. อัจฉรพรรณ กล่าว