"ศรีสุวรรณ" ฟ้อง กฟผ.ต่อ ศาลปกครอง ปมซุกข้อมูลโรงไฟฟ้าเอกชน "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" ผลักภาระค่าไฟแพงให้ประชาชน หวังปกป้องสิทธิผู้ใช้ไฟทั่วประเทศ
วันนี้ (24 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อศาลปกครองกลาง ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคำสั่งที่ให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ IPP ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากมีปริมาณไฟฟ้าล้นประเทศ แต่ กฟผ.ต้องจ่ายค่าประกันรายได้ให้โรงไฟฟ้าเอกชนทุกเดือนแม้ไม่เดินเครื่อง แต่กลับผลักภาระค่าใช้จ่ายมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนผ่านค่าเอฟที
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กฟผ.ได้ทำสัญญาจ้างผลิตไฟฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่กว่า 8 โรงทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 55,000 เมกกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกกะวัตต์เท่านั้น ทำให้มีปริมาณไฟฟ้าเหลือมากกว่า 20,000 เมกกะวัตต์ เมื่อมีปริมาณไฟฟฟ้าเหลือทำให้ กฟผ.มีอำนาจในการสั่งให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใดเดินเครื่องหรือไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ แม้โรงไฟฟฟ้าใดไม่เดินเครื่องตามคำสั่ง แต่ กฟผ.ก็ต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่นั้น ๆ ทุกโรงตามเงื่อนไขของสัญญาการประกันรายได้ หรือที่เรียกว่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” (Take or Pay)
นอกจากประเทศไทยจะมีปริมาณกระแสไฟฟ้าล้นประเทศในขณะนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีเล่ห์ฉลจากนักเทคโนแครต ร่วมกับนักการเมืองและนายทุนโรงไฟฟ้าในการผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าของเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรียกสวยๆว่าเป็นโรงไฟฟ้าทางเลือกหรือโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื่อเพลิง เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ มากกว่า 5-6,000 เมกกะวัตต์ โดยอ้างการลดก๊าซเรือนกระจก (Net Zero Energy Policy) เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าจากยุโรป-อเมริกา ทั้งๆที่นโยบายของทรัมป์(Reciprocal tariff) ก็ไม้เคยสนใจเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆทั้งหมดจะถูกผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนร่วมกันรับผิดชอบเสมอ
ทั้งนี้ตนได้พยายามขอข้อมูลข่าวสารไปยัง กฟผ. และร้องไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการแล้วตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 41 ประกอบ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 บัญญัติกำหนดสิทธิของประชาชนไว้ แต่ทว่ากลับถูกปฏิเสธไม่ยอมให้โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลความลับของเอกชน ตามมาตรา 15(1) ของกฎหมายข้อมูลข่าวสาร จึงจำต้องนำความมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ กฟผ.และคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ส่งมอบข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่างๆดังกล่าวให้สมาคมฯเพื่อนำไปใช้ในการปกป้องสิทธิของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนทั่วประเทศต่อไป