ศาลปกครองกลางยกฟ้องไทยพีบีเอส กรณีคำสั่งปลด อดีต ผอ.ศูนย์สื่อสารภัยพิบัติ ฐานคุกคามทางเพศพนักงานในองค์กร ชี้ พฤติกรรมผิดวินัยประพฤติชั่วร้ายแรงจริง
วันนี้ (23 ก.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายสุรชัย ปานน้อย อดีต ผอ.ศูนย์สื่อสารภัยพิบัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ยื่นฟ้อง ผอ.ไทยพีบีเอส, ไทยพีบีเอส และคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กรณี สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมีคำสั่งปลดนายสุรชัยออกจากงานในข้อกล่าวหาว่า กระทำการคุกคามทางเพศต่อ นางสาว อ. ผู้สมัครงานในตำแหน่งเลขานุการ ผอ.ศูนย์สื่อสารภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ส่วนเหตุผลที่ศาลยกฟ้องระบุว่า
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี เห็นว่า การที่ นายสุรชัย กอดนางสาว อ. ดึงมือนางสาว อ. ให้ไปนั่งบนเตียงนอนในห้องพักของนายสุรชัย ที่โรงแรม ซึ่งมีการจัดสัมมนา มีการแตะเนื้อต้องตัวของนางสาว อ. หลายจุด รวมทั้งได้เอาศีรษะของตนนอนหนุนหมอนที่นำไปวางบนตักของนางสาว อ. โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้รับความยินยอมจากนางสาว อ.จึงเป็นกรณีที่นายสุรชัยกระทำการด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศต่อนางสาว อ.
นอกจากนั้น การที่นายสุรชัยส่งข้อความติดต่อกับนางสาว อ. ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) จำนวนหลายข้อความ ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อความที่เป็นการลวนลาม เกี้ยวพาราสี มุ่งหวังสร้างสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับนางสาว อ.โดยที่นางสาว อ. มิได้ยินดีกับการส่งข้อความในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่นายสุรชัยสื่อสารด้วยข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ที่ส่อไปในทางเพศต่อนางสาว อ.
จากพฤติการณ์ดังกล่าว นายสุรชัย จึงเห็นได้ว่า นายสุรชัยได้อาศัยโอกาสที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการบังคับขืนใจนางสาว อ. ซึ่งเป็นผู้ประสงค์จะสมัครงานในตำแหน่งเลขานุการของนายสุรชัย เพื่อให้สนองตอบต่อความต้องการหรือความพึงพอใจทางเพศของตน โดยมิได้คำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนางสาว อ. ที่พึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
พฤติการณ์ของนายสุรชัยจึงเข้าลักษณะเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นเครื่องมือในการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศต่อนางสาว อ. อันเป็นการกระทำที่เสื่อมเสียต่อเกียรติของการเป็นผู้บริหารด้านงานสื่อสารมวลชนของนายสุรชัย และขัดต่อจริยธรรมของผู้บริหารตามข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ. 2551 อันเป็นเรื่องที่อารยประเทศไม่อาจยอมรับได้ ดังเช่นที่มีการต่อต้านพฤติกรรมของผู้บริหารองค์กรที่ใช้โอกาสจากตำแหน่งหน้าที่กระทำการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศต่อผู้ร่วมงานจนเกิดกระแส #MeToo (ฉันก็โดนด้วย) ขึ้นทั่วโลกในหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ พฤติการณ์ของนายสุรชัยที่กระทำการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศต่อนางสาว อ.ยังเป็นเหตุให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐด้านการสื่อสารมวลชนที่มีหน้าที่ต้องสนับสนุนมิให้พนักงานในสังกัดมีการกระทำที่เป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมกลับต้องได้รับความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงอย่างร้ายแรง พฤติการณ์ของนายสุรชัยจึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และขาดจริยธรรมของผู้บริหารอันชอบที่จะได้รับโทษให้ปลดออกจากงานได้ตามระเบียบองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2563 และสัญญาจ้าง ดังนั้น การที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปลดนายสุรชัยออกจากงาน อันเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างนายสุรชัยเป็นพนักงาน จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยข้อสัญญาและกฎหมาย จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง