“สว.นรเศรษฐ์” จี้กองทัพเร่งแก้วัฒนธรรมความรุนแรง หลังคดี “น้องเมย” ศาลทหารรอลงอาญา ชี้ต้นเหตุความสูญเสียซ้ำซาก เพราะระบบลอยนวลพ้นผิดและอิทธิพลภายใน เทียบคดีศาลพลเรือน โทษหนักกว่าหลายเท่า สะท้อนความเหลื่อมล้ำยุติธรรมไทย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงแสดงความเห็นต่อคำพิพากษาศาลทหารชั้นฎีกาในคดีการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างปริศนาเมื่อปี 2560 หลังถูกลงโทษธำรงวินัยโดยรุ่นพี่ 2 นาย โดยศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี
นายนรเศรษฐ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า คำพิพากษาดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกหลากหลายในสังคม โดยเฉพาะประเด็นตัวบทลงโทษว่ามีความเหมาะสมหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะการกระทำที่ส่งผลให้บุคคลหนึ่งต้องเสียชีวิต แต่ผู้กระทำผิดกลับได้รับโทษจำคุกเพียงไม่กี่เดือนและยังได้รับการรอลงอาญา ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากเกิดขึ้นภายหลัง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดจะต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ใช่ศาลทหารอีกต่อไป
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับกรณีของพลทหาร วรปรัชญ์ พัดมาสกุล ซึ่งถูกครูฝึกลงโทษซ้อมวินัยจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต โดยกรณีนั้นขึ้นศาลพลเรือน และผู้กระทำความผิดได้รับโทษจำคุก 10-20 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของโทษในคดีลักษณะคล้ายกันเพียงเพราะแยกกันที่ “ศาลที่พิจารณาคดี”
“นี่คือ ตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งปัญหาไม่ได้มีเพียงการใช้ความรุนแรงในการฝึกทหาร แต่ยังมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ฝังรากอยู่ในระบบกองทัพ”
นายนรเศรษฐ กล่าวว่า การที่ผู้กระทำผิดยังสามารถใช้อิทธิพล ยังได้รับการคุ้มครอง และไม่ได้รับโทษตามสัดส่วนของการกระทำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์การซ้อมทรมานทหารเกณฑ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กรณีทหารเสียชีวิตจากการฝึกหรือถูกซ้อมทรมานที่เป็นข่าวมีมากกว่า 20 ราย นี่ยังไม่รวมที่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าวอีกจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าต้นเหตุคือวัฒนธรรมความรุนแรงที่หยั่งรากลึกในกองทัพ ผมอยากวิงวอนไปยังผู้มีตำแหน่งในกองทัพ โปรดจริงจังกับการแก้ปัญหานี้ อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมความรุนแรงและการลอยนวลพ้นผิดยังคงดำรงอยู่ เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกหลานที่ถูกส่งมาเป็นรั้วของชาติ ต้องจบชีวิตลงด้วยความเจ็บปวดจากมือของผู้ฝึกสอน” นายนรเศรษฐ กล่าว