กมธ.ศาสนาฯ ชงญัตติเปิดประชุมวุฒิสภา แก้ปัญหาวงการสงฆ์ฉาว พร้อมเสนอแผนแก้ไข ก่อนศรัทธาพุทธศาสนาล้มสลายจากพระไม่กี่รูป
เมื่อวันที่ (20 กค.)2568 นางเอมอร ศรีกงพาน สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เนื่องจากพฤติกรรมของพระสงฆ์หลายรูปบั่นทอนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบรรจุเข้าเป็นวาระ และคาดว่าจะพิจารณาได้ทันในวันที่ 22 กค. นี้
นางเอมอร ระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวของสื่อมวลชนว่า พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปและจำพรรษาอยู่หลายวัด ทั้งที่เป็นพระราชาคณะ พระสังฆาธิการ และพระนักวิชาการที่มีชื่อเสียง และมีฐานะทางการเงินดีแต่มีพฤติกรรมละเมิดพระธรรมวินัยอยู่เป็นนิจหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมเสพเมถุนกับสตรีที่จงใจเข้ามาทำความสนิทสนมและล่อลวงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน ทั้งยังพบว่า พระสงฆ์บางรูปมีทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าสูงโดยไม่สามารถอธิบายแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินได้อย่างชัดเจน ซึ่งพระสงฆ์หลายรายได้มีพฤติกรรมการนำทรัพย์สินของวัดและทรัพย์สินส่วนตัวมอบให้สตรีสำหรับนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่เหมาะสม
นางเอมอร กล่าวต่อว่า ปัญหาของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นมาจากการขาดบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการห้ามมิให้พระสงฆ์สะสมหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเป็นการส่วนตัวที่ไม่เหมาะสมกับสมณสารูป,ขาดบทบัญญัติและบทลงโทษที่ชัดเจนในกรณีที่พบว่า พระสงฆ์กระทำการล่วงพระธรรมวินัยต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งขาดจากความเป็นสงฆ์ และ ต่อมาได้ลาสิกขาพันจากความเป็นพระออกมาเป็นคฤหัสถ์ จึงเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมให้แก่คณะสงฆ์และกัดกร่อนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และการขาดมาตรการการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 208 ในการเอาผิดต่อพระสงฆ์ที่กระทำการล่วงพระธรรมวินัยต้องอาบัติปาราชิก แต่ไม่ลาสิกขา ซ้ำยังแสดงตนให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าตนยังเป็นพระสงฆ์อยู่ ในลักษณะของการอาศัยผ้าเหลืองแอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากความเป็นสงฆ์ และสามารถขอรับบริจาคเงินจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยขาดความละอายต่อบาป รวมถึงการขาดมาตรการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการลงโทษพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมาย ได้แก่ การลักลอบเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การแสดงพฤติกรรม อันเสื่อมเสียต่าง ๆ ที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
รวมถึง การขาดมาตรฐานของระบบทางการเงินที่เหมาะสมและการขาดระบบตรวจสอบบัญชีของวัดทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนการปฏิบัติที่เหมาะสมของพระอารามหลวงบางแห่ง และขาดการระบบทางการเงินของที่วัดหลายแห่งที่ไม่มีไวยาวัจกร
“ปัญหาของพระสงฆ์เหล่านี้ถือว่า เป็นแรงผลักดันในการนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ในภาพรวมของประเทศ ความเสื่อมศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และส่งผลให้พุทธศาสนิกชนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในการกระทำความดีตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมการประพฤติล่วงพระธรรมวินัยของพระสงฆ์เพียงบางรูปที่มีจำนวนน้อย แต่ก็ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างที่สร้างความมัวหมองต่อพระพุทธศาสนา ส่งผลกระทบต่อจิตใจ และทำลายความเชื่อถือศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก”นางเอมอร กล่าว
นางเอมอร กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์และรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการกำหนดมาตรการหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การกำกับดูแลพระสงฆ์และคณะสงฆ์ และแก้ไขปรับปรุงเพื่อบัญญัติเป็นความผิดหรือกำหนดบทลงโทษต่อพระสงฆ์ที่ประพฤติล่วงพระธรรมวินัย หรือกระทำความผิดกฎหมาย และบุคคล ผู้ที่ร่วมกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา วุฒิสภาฯจึงควรที่จะมีการอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน และเสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อเรียกคืนความศรัทธา และปกป้องคุ้มครอง ธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสัมมาทิธิของพุทธศาสนิกชนชาวไทย