"จิรายุ" เผยรัฐบาลเดินหน้าเต็มสูบดูแล SMEs จัดเต็มทุกมาตรการช่วยเหลือ ล่าสุด บสย.ช่วย SMEs รายย่อยแล้ว 2.1 หมื่นราย มียอดค้ำประกันสินเชื่อครึ่งปีแรกเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ SMEs ของไทยประมาณ 75% ของประเทศ โดยได้ประสานไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อออกนโยบายต่าง ๆ เร่งผลักดันและช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้เปิดเผยยอดค้ำประกันสินเชื่อครึ่งปีแรก 2568 (ม.ค.-มิ.ย.) รวม 1.9 หมื่นล้านบาท โดยสามารถช่วย SMEs รายย่อย ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 21,348 ราย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 8 หมื่นล้านบาท
โดยกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย Micro SMEs 81% (ค้ำประกันเฉลี่ย 1.4 แสนบาท/ราย) และอีก 19% เป็น SMEs ทั่วไป (ค้ำประกันเฉลี่ย 4.25 ล้านบาท/ราย) ซึ่งก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ราว 1.88 แสนตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 8.04 หมื่นล้านบาท สำหรับธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การบริการ 31.4% อาหารและเครื่องดื่ม 10.7% และเกษตรกรรม 8%
ซึ่งธุรกิจ 3 ประเภทดังกล่าวครองสัดส่วนค้ำประกันรวมถึง 50% สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 โดยเฉพาะอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว เกษตรและอาหารแปรรูป และ medical and wellness” ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าเร่งกระตุ้นการลงทุนและผลักดันเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ
นายจิรายุกล่าวอีกว่า โครงการหลักอย่างโครงการ “บสย. SMEs ยั่งยืน” นั้นพบว่า ตั้งแต่ ก.ค. 2567 – มิ.ย. 2568 มียอดค้ำประกัน 3.8 หมื่นล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 4.8 หมื่นราย โดยเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. (ลูกค้าใหม่) ถึง 74% และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs ถึง 86%
"ตอกย้ำความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” รายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ ที่มีปัญหาขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขาดคนค้ำประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น"
สำหรับมาตรการช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก.ค. - ก.ย. ) ได้ดำเนินการออก “มาตรการพิเศษ” ภายใต้มาตรการ “บสย. พร้อมค้ำ” วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ประกอบ 2 โครงการใหม่ คือ
1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Power Trade & Biz วงเงิน 3 พันล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 5 แสนบาท – 10 ล้านบาท สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มที่ได้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Micro Biz วงเงิน 2 พันล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 1 หมื่นบาท – 5 แสนบาท ที่ตอบโจทย์กลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ค้าขายออนไลน์ อาชีพอิสระ ฯลฯ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ขาดคนค้ำและขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน
นายจิรายุกล่าวว่า จุดเด่นทั้ง 2 โครงการ คือ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก ปีต่อไปชำระต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันสูงสุด 7 ปี มุ่งเสริมสภาพคล่อง และลดภาระทางการเงินได้ รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในรายที่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยการจ่ายเคลม (จ่ายค่าประกันชดเชย) สูงถึง 37% (SMEs Power Trade & Biz) และ 42% (SMEs Micro Biz) ต่อพอร์ตการค้ำประกันเมื่อเทียบกับการค้ำประกันปกติที่ระยะเวลา 10 ปี
"ขอยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าช่วยเหลือ SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวกับด้านเงินทุนให้กับ SMEs ไทย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ให้สามารถอยู่รอด เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน และเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน"