xs
xsm
sm
md
lg

“อ่างเก็บน้ำห้วยไร่–ห้วยทรวงฯ” พลิกชีวิตคนศรีสัชนาลัย ตามรอยพระราชดำริ สร้างน้ำ สร้างอาชีพ สร้างอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อ่างเก็บน้ำห้วยไร่–ห้วยทรวงฯ” ตามแนวพระราชดำริ เปลี่ยนชีวิตชาวศรีสัชนาลัย แก้ปัญหาน้ำหลาก-แล้ง ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพิ่มผลผลิต-รายได้ทั่วชุมชน ส่ง'ทุเรียนหมอนพระร่วง'ดังไกล ชาวบ้านยิ้มได้ตลอดปี

นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น “วิศวกรชลประทานที่แท้จริง” โดยพระองค์ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมให้เป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลากในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

พระราชดำริของพระองค์ครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างทางกั้นน้ำเป็นช่วง ๆ ผันน้ำเข้าคลองธรรมชาติทั้งซ้ายและขวาของแม่น้ำยม ซึ่งได้มีการขุดลอกเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งน้ำ และนำไปกักเก็บไว้ตามหนองบึงธรรมชาติ รวมถึงพิจารณาการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เหนือจังหวัดสุโขทัยบริเวณลำสาขาของแม่น้ำยม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืนให้แก่ราษฎร

ในพื้นที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ฯ และอ่างเก็บน้ำห้วยทรวงฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำของราษฎรในภาคการอุปโภค บริโภค และการเกษตร


โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรวงฯ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2549 แล้วเสร็จในปี 2553 มีความสามารถกักเก็บน้ำได้ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ฯ เริ่มก่อสร้างปี 2561 แล้วเสร็จปี 2564 ในระยะแรกสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2568 ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เพิ่มเติมให้สามารถใช้สัญจรและขนส่งผลผลิตทางเกษตรได้อย่างสะดวกปลอดภัย พร้อมทั้งเพิ่มความจุอ่างเป็น 7.33 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับในปี 2569 กรมชลประทานมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำต่อเนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ฯ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 4,500 ไร่ในฤดูฝน และ 2,000 ไร่ในฤดูแล้ง โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 ซึ่งจะทำให้โครงการนี้มีความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

นอกจากนี้ โครงการยังได้ก่อสร้างฝายทดน้ำศรีเชลียง พร้อมระบบส่งน้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกกว่า 33,287 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวนาปีและไร่อ้อย โดยสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่กว่า 135,456,000 บาทต่อปี

อีกหนึ่งผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ การส่งเสริมอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะในชุมชนบ้านนาต้นจั่น ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและต้องปลูกพืชใช้น้ำต่ำ เช่น ถั่วและข้าวโพด ปัจจุบันสามารถเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ลองกอง มะนาว ส้มโอ และทุเรียนหมอนทอง ซึ่งในพื้นที่นี้ได้รับการตั้งชื่อพันธุ์ว่า “ทุเรียนหมอนพระร่วง” อันมีลักษณะเด่นคือ รสชาติไม่หวานจัด เนื้อแน่นแห้ง ไม่แฉะ เป็นที่ต้องการของตลาด พ่อค้าเข้ารับซื้อถึงแปลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง


นายมงคล พึ่งกุศล กำนันตำบลบ้านตึก กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนประมาณ 2,000 ครัวเรือนในพื้นที่ 5,000 – 6,000 ไร่ ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการฯ รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะจากการจำหน่ายทุเรียนที่ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 120 – 150 บาท ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการนี้ให้ราษฎรได้มีแหล่งน้ำทำกิน

ขณะที่นายจิระพงษ์ ใจสุกใส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านนาต้นจั่น กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านสามารถทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี มีน้ำใช้เพียงพอ ไม่มีความกังวลเรื่องน้ำหลากหรือน้ำแล้งอีกต่อไป อีกทั้งชุมชนยังเกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต้นน้ำและรอบอ่างเก็บน้ำทุกปี โดยความสำเร็จของโครงการพระราชดำริในพื้นที่ศรีสัชนาลัยไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องรายได้หรือการเข้าถึงแหล่งน้ำเท่านั้น แต่ยังปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม


โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ฯ และห้วยทรวงฯ จึงนับเป็นแบบอย่างของการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริที่ยั่งยืน เป็นผลจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ที่ทรงเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง และมุ่งมั่นให้ราษฎรอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่มั่นคง ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรีในถิ่นฐานของตนเองอย่างแท้จริง.


กำลังโหลดความคิดเห็น