สภาลงมติรับหลักการ 3 ร่างนิรโทษกรรมการเมือง จากรวมไทยสร้างชาติ กล้าธรรม และภูมิใจไทย อีก 2 ฉบับจากพรรคประชาชน และภาคประชาชน ถูกตีตก จุดชนวนถกเถียง “คดี ม.112” เลือกปฏิบัติ-ขัดสันติสุข ตั้ง กมธ.วิสามัญ 32 คน “เต้น-ต๋อม-โคทม” โผล่ร่วมด้วย
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร โดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่หนึ่ง ได้พิจารณาวาระต่อเนื่องจากการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ในกลุ่มของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมือง จำนวน 5 ฉบับ
ประกอบด้วยร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ.... เสนอโดย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม และ สส.พรรคประชาชาติ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เสนอโดยพรรคประชาชน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน และ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายตอนหนึ่ง ว่า การเสนอร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มกปปส. แต่ทำเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวแม้จะขัดใจบางพรรคการเมือง แต่จะเป็นโอกาสที่พาประเทศไปตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า จิตใต้สำนึกของ สส. ต้องการออกร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข แต่ห่วงเนื้อหา เพราะไม่ได้นิรโทษกรรมของคนทุจริต เข่นฆ่าประชาชน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในบรรทัดฐานต่อไป คือ เมื่อรับร่างกฎหมาย จะถูกพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และหารือร่วมกัน ทั้งนี้พรรครวมไทยสร้างชาติยืนยันว่า ในประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จะไม่รับร่าง
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนประชาชน จาก ไอลอว์ อภิปรายปิดญัตติตอนหนึ่งว่ามี สส.หลาคนบอกว่าจะไม่รับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคนที่มีคดีมาตรา 112 แต่จากตัวอย่างของคนที่โดนคดีดังกล่าวพบว่าเป็นบุคคลที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่มีความผิดแท้จริงและบางคนติดคุกฟรี ดังนั้น หากสภาต้องการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำร้ายร่างกาย นิรโทษกรรมคนที่เป็นกบฎ ก่อการร้าย ปิดสนามบิน ยึดทำเนียบ ยึดศูนย์ราชการที่ประชาชนเดือดร้อนและเสียหาย แต่ไม่นิรโทษกรรมบุคคลในคดีมาตรา 112 เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ได้ต้องการช่วยคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
“มี สส.หลายคนอธิบายว่าต้องช่วยคนถูกดำเนินคดีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ควรช่วยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 เพราะจะทำให้การนิรโทษกรรมไม่ประสบความสำเร็จ เท่ากับการไม่สร้างสังคมสันติสุขและออกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี การจะนิรโทษกรรมคนที่ทำผิดกฎหมายแต่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับผลที่ตามมา ใช้อภิสิทธิ์ที่รู้จัก สส. ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พวกตัวเอง ให้คนพ้นผิดทุกข้อกล่าวหา แต่คุมขัง ตีตราคนอีกกลุ่มหนึ่งไปตลอด คือการไม่สร้างสังคมสันติสุขและออกกฎหมายเลือกปฏิบัติที่ชัดเจน” นายยิ่งชึพ อภิปราย
ส่วน นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายต่อที่ประชุมด้วยว่า เห็นใจ บางกรณี ในกลุ่มของคนที่ถูกลงโทษ มาตรา 112 จำนวนไม่น้อย จงใจฝ่าฝืนกฎหมายและทำผิดซ้ำ จนต่องถูกลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งหากในสภาฯ คิดเห็นแตกต่างกัน เมื่อออกไปสังคมภายนอก อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง การเผชิญหน้าหรือความไม่สุขสงบ สันติสุขในสังคม
“ภูมิใจไทย เห็นว่า บางกรณีที่ถูกลงโทษตามที่บอกว่าไม่ยุติธรรมนั้นยังมีช่องทางอื่น คือ ขออภัยโทษ ทั้งนี้ไม่ได้รังเกียจคนที่ผิด มาตรา 112 แต่กังวลว่าสิ่งที่จะเป็นผลตามมา คือ การนำไปสู่ความไม่สงบสุขของสังคม และ ความขัดแย้งใหม่ ซึ่งไม่อาจเยียวยาบาดแผลเก่า ด้วยการสร้างบาดแผลใหม่ได้” นายกรวีร์ อภิปราย
ขณะที่ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายปิดญัตติ โดยอ่านจดหมายจากของนายอานนท์ นำภา นักโทษคดีมาตรา 112 ต่อที่ประชุมและย้ำว่า ตนได้พบสส. เพื่ออธิบายเนื้อหาของพรรคประชาชนและฉบับของพรรคประชาชนเพื่อให้รับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แม้มีความหวังแค่ 1% ทั้งนี้มีสส.ส่งข้อความมาว่าเห็นใจ เข้าใจ แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวจะถูกยุบพรรค และบอกว่าให้ตนไปคุยกับข้างบน บางคนพูดด้วยความขี้ขลาดว่าคนของพวกพี่ไม่มีใครอยู่ในคุกแล้ว
น.ส.ศศินันท์ อภิปรายว่า ร่างของพรรคประชาชนไม่มีการขัดหลักการของร่างฉบับอื่น และไม่มีตรงไหนที่บอกว่าจะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ทั้งนี้เข้าใจว่าการกดรับร่างของพรรคประชาชนและภาคประชาชนมีความตะขิดตะขวางใจ ขอให้กดงดออกเสียงก็เพียงพอให้ทุกร่างเข้าไปถกกันในชั้นกรรมาธิการ เพราะเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนั้นต้องไม่แบ่งแยก
“วาระแรกนี้อย่าเปิดประตูความหวังของประชาชน และขอเรียกร้องความกล้าหาญหากเห็นใจประชาชนขอกดงดออกเสียงให้กับร่างของพรรคประชาชนและภาคประชาชน” น.ส.ศศินันท์ อภิปราย
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติใช้วิธีการแยกลงคะแนนเป็นรายฉบับ ผลปรากฏ
ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ.... เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ และคณะ มติสภาฯ รับหลักการเสียงฉันท์ 299 เสียง งดออกเสียง 172 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม และคณะ มติสภา รับหลักการเสียงเอกฉันท์ 311 เสียง งดออกเสียง 158 เสียง
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เสนอโดยพรรคประชาชน มติสภา ไม่รับหลักการ ด้วย 319 เสียง ต่อเสียงรับหลักการ 147 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน มติสภา ไม่รับหลักการ ด้วย 306 เสียง ต่อเสียงหลักการ 149 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง
และ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มติสภา รับหลักการ 311 เสียง ไม่รับหลักการ 3 เสียง งดออกเสียง 147 เสียง
โดย นายพิเชษฐ์ แจ้งว่า มติสภารับหลักการ จำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับของนายปรีดา ฉบับของนายวิชัย และฉบับของนายอนุทิน
จากนั้นมติของที่ประชุมได้ตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 32 คน ทำหน้าที่พิจารณา อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายโคทม อารียา นักวิชาการ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน นายยุทธพร อิสระชัย นักวิชาการ น.ส.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ นักวิชาการ นายเจือ ราชสีห์ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา นายวรวิทย์ บารู สส.พรรคประชาชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกเสนอชื่อให้เป็น กมธ. ได้ขอถอนรายชื่อตนออกจาก กมธ. เนื่องจากขาดคุณสมบัติ