ดร.สุชัชวีร์ เสนอไอเดีย สร้าง “ศูนย์กลางการศึกษาโลก “แทน “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”ชูโมเดล Claremont สหรัฐฯ ผนึกมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาศักยภาพเยาวชน หวังปั้นเด็กไทยเป็นพลเมืองโลก สร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยมันสมองและเทคโนโลยี
วันที่ 13 กรกฎาคม 2568 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” อดีตอธิการบดีสจล. และผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัย CMKL University โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระหว่างเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เสนอแนวคิดผลักดันประเทศไทยสู่ “Education Complex” หรือ “ศูนย์กลางการศึกษา” แห่งภูมิภาคเอเชีย โดยใช้ต้นแบบจาก “เมืองแคลร์มอนต์” (Claremont) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่สามารถรวมมหาวิทยาลัยระดับโลก 7 แห่งให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่ละแห่งจะมีอัตลักษณ์และการบริหารอิสระก็ตาม
ดร.เอ้เปิดเผยว่า การเดินทางครั้งนี้ เป็นภารกิจด้านการศึกษาของทีม CMKL University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย AI แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย 3 ด้านสำคัญ คือ1.ผลักดันให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสมาเรียนที่ Claremont มากขึ้น เพื่อนำความรู้และทักษะที่ทันสมัยกลับไปพัฒนาประเทศ
2.สร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย โดยเฉพาะสาขาบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี AI เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย
3.เชิญชวนคณะบริหารธุรกิจ Drucker School of Management ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะที่มีชื่อเสียงของโลก มาตั้ง “สถาบันการบริหารองค์กร” ในประเทศไทย โดยหวังให้เป็นศูนย์กลางความรู้ในการพัฒนา “คนไทย” ด้วยแนวคิดของ Peter Drucker นักคิดด้านการจัดการระดับโลก
ดร.เอ้ระบุว่า ในยุคที่โลกเปลี่ยนผ่านสู่การแข่งขันด้วยสมองและนวัตกรรม ประเทศไทยไม่อาจพึ่งพาแรงงานราคาถูกเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป หากต้องการยกระดับประเทศให้แข่งขันในเวทีโลก จำเป็นต้องลงทุนใน “การศึกษา” เพื่อผลิต “พลเมืองระดับโลก” ที่มีทักษะสูงและพร้อมสู้ในยุค AI อย่างแท้จริง
ในช่วงที่ประเทศไทยมีการถกเถียงเรื่องการสร้าง “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” หรือศูนย์รวมคาสิโนและกิจกรรมบันเทิง ดร.เอ้แสดงจุดยืนที่แตกต่าง โดยเสนอว่า ควรหันมาสร้าง “Education Complex” แทน เพราะการลงทุนในระบบการศึกษาจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และยกระดับศักยภาพประชาชนอย่างแท้จริง
“ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็น Education Complex ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยระดับโลกในแผ่นดินไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย ใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อปั้น ‘เด็กไทย’ ให้เป็น ‘พลเมืองระดับโลก’ ไปสร้าง ‘เศรษฐกิจใหม่’ ที่สู้กันด้วย ‘มันสมอง’ และเทคโนโลยี” ดร.เอ้กล่าว
นายสุชัชวีย์ยังกล่าวถึงเมืองแคลร์มอนต์ว่า เป็นหนึ่งในต้นแบบที่ดีที่สุดของการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำถึง 7 แห่งในเมืองเดียวกัน ที่มีอิสระในการบริหาร มีอธิการบดีของตนเอง แต่สามารถแชร์ทรัพยากรร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด อาคารเรียน สนามกีฬา และหลักสูตร ซึ่งถือเป็นโมเดลที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและส่งเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน
“เมื่อเขาทำได้ ไทยก็ต้องทำได้เช่นกัน อยู่ที่วิสัยทัศน์ทางการเมืองของผู้นำ และการสนับสนุนจากประชาชน” ดร.เอ้กล่าวทิ้งท้าย พร้อมระบุว่า ความฝันของเขาจะเป็นจริงได้ หากได้รับโอกาสจากประชาชนให้มีส่วนร่วมดูแลระบบการศึกษาของชาติ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกหลานไทย