คณะกรรมการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯ ของกรรมการ ป.ป.ช.ที่พ้นจากตำแหน่ง ตรวจพบพิรุธอดีตกรรมการ ป.ป.ช.บางคนมีเส้นเงินค่ารักษาพยาบาลมาจากบัญชีของคนอื่น เรียกมาชี้แจงแต่ขอเลื่อนหลายครั้ง ส่อพฤติกรรมรับผลประโยชน์จากอดีตบิ๊กข้าราชการหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามขั้นตอนตามกฎหมาย หลังจากกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่งเมื่อครบวาระ จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภาภายใน 60 วันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง หลังจากนั้น ประธานวุฒิสภาจะส่งบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวไปยังคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งขึ้น เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อน พร้อมทั้งเปิดเผยบัญชีดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชี
สำหรับแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการ ป.ป.ช.กรณีพ้นจากตำแหน่ง คณะกรรมการฯ ของวุฒิสภาดังกล่าว จะตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหลัก โดยจะนำรายรับตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งมาเปรียบเทียบที่มาของทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่ามีความผิดปกติหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเสร็จแล้ว จะจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งประธานวุฒิสภาจะได้เปิดเผยผลการตรวจสอบให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปต่อไป และหากผลการตรวจสอบพบว่ากรรมการ ป.ป.ช.ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ขั้นตอนกฏหมายกำหนดให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า จากกรณีข้างต้น เบื้องต้นพบว่ามีกรรมการ ป.ป.ช.บางรายที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ตรวจสอบนั้น มีข้อมูลว่าคณะกรรมการฯ ที่ประธานวุฒิสภาตั้งขึ้น พบเหตุอันควรสงสัยบางรายการ คือ รายจ่ายที่เป็นค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวของอดีตกรรมการ ป.ป.ช.คนนั้น ที่มีการโอนเงินชำระต่อสถานพยาบาล พบว่า เส้นเงินการโอนไม่ได้มาจากบัญชีของอดีตกรรมการ ป.ป.ช.คนนั้น
รายงานข่าวเเจ้งอีกว่า คณะกรรมการฯ ได้ขอให้อดีตกรรมการ ป.ป.ช.คนนั้น ชี้แจงรายละเอียดที่มาของเงินพร้อมกับหลักฐานต่าง ๆ ว่า เหตุใดจึงใช้บัญชีของผู้อื่นเป็นผู้โอนเงินชำระค่ารักษาพยาบาลแทน และจากข่าว สว.เปิดเผยว่าอดีตกรรมการป.ป.ช.คนนั้นได้ขอเลื่อนการเข้าชี้แจงมาหลายครั้งและการเข้าชี้แจงก็ไม่ชัดเจนรวมทั้งไม่มีหลักฐานยืนยัน
“กรณีนี้จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในพฤติกรรมว่า อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายเสียเองหรือไม่ ซึ่งหากผิดจริงอาจถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 128 และมาตรา 169
ทั้งนี้ รายการค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของอดีตกรรมการป.ป.ช.คนนั้น คล้ายๆ ว่าจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นหรือไม่ ซึ่งอาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 168 ” รานงานข่าวจากสว.ระบุ
ในส่วนของเงินที่โอนไปชำระนั้น รายงานข่าวจาก สว. ระบุว่า หากมูลค่าเกินสามพันบาท จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 103 เเละหากเป็นเงินที่มาจากบัญชีที่ผิดกฎหมายฟอกเงิน กรณีนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงินอีกด้วย
รายงานข่าวจาก สว.กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นอดีตกรรมการ ป.ป.ช.คนนี้อาจจะไปพัวพันกับการพิจารณาคดีของบิ๊กข้าราชการรายหนึ่งที่เคยมีอิทธิพลในสำนักงาน ป.ป.ช.เมื่อหลายปีก่อน เเละอาจจะเกี่ยวข้องกับข้าราชการภายในสำนักงานป.ป.ช.บางคนที่ร่วมมือช่วยเหลือบิ๊กข้าราชการคนนี้หลายวาระหรือไม่ เเต่ล่าสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ในทางลับแล้ว โดยทราบว่าประธาน ป.ป.ช.คนปัจจุบันได้มีนโยบายให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับในเรื่องลักษณะแบบนี้ ทำให้ข้าราชการในสำนักงาน ป.ป.ช.บางรายที่เคยช่วยเหลือบิ๊กข้าราชการกังวลกันว่าเรื่องนี้จะบานปลายออกไปแค่ไหนเเละใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง