xs
xsm
sm
md
lg

"แม้ว" ดันโอทอปคอลแลปแบรนด์ดังโลก ย้ำก่อนนี้มท.ไม่หนุน "หมอเลี๊ยบ" ฉะคนไทยแต่งนิยายเก่ง ปัดคุมวธ.ยังรอ "อิ๊งค์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ทักษิณ" โชว์วิสัยทัศน์ Soft Power ดัน OTOP ไทย คอลแลปแบรนด์ชั้นนำโลก วางวธ.-อก. หนุน SMEs ชี้ ก่อนหน้าติดขัดเหตุมท.ไม่ค่อยร่วมมือ เผลอเรียกลูกนายกฯ "หมอเลี๊ยบ" เบรกนั่งรมว.วธ. รอ "อิ๊งค์" กลับมาลุย เหน็บคนไทยเขียนนิยายเก่งยิ่งปมการเมือง ซัดใช้สมองพัฒนาทำเงินไม่ใช่ทำลายกันเอง

วันนี้ (9 ก.ค. 68) เวลา 13:30 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าววิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Crafting the Future: From OTOP to ThaiWORKS and Beyond” ในงาน “SPLASH – Soft Power Forum 2025” โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นพิธีกร ซึ่งได้ให้นายทักษิณได้อธิบายว่า “อะไรคือคิดใหม่ทำใหม่”

นายทักษิณ อธิบายว่า คิดใหม่ทำใหม่ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศในอดีต และไทยตามไม่ทันโลก เพราะเราอยู่กับที่เดิม ๆ ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป จึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งคำว่า “ตาดูดาว เท้าติดดิน” ต้องการให้รู้ว่า เราต้องฝัน และบินไปให้ไกล โดยที่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง ซึ่งเท้าต้องติดดินไว้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นรากฐานของเรา และสิ่งที่เติบโตกันมายังคงอยู่ รวมถึงที่เรากำลังปรับตัว และกำลังไปสู่โลกกว้าง เราต้องมั่นใจว่า แข็งแรงพอ นี่คือหลักที่ตนต้องการสื่อสารไปยังคนไทยในวันนี้

นพ.สุรพงษ์ ถามว่า นโยบายที่เคยทำในอดีต เมื่อปี 2544 เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน แต่มีหนึ่งนโยบายที่ยึดหลัก “ตาดูดาวเท้าติดดิน” คือ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ซึ่งที่มาที่ไปนั้นมาจากไหน นายทักษิณ ระบุว่า มีโอกาสได้เจอคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้พูดคุยเรื่อง “อีซองอีปิง” ของญี่ปุ่น หรือแปลว่า หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ของประเทศเขา ซึ่งตนเองเติบโตมาจากลานชินวัตรไหมไทย ที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตนได้เห็นงานฝีมือมาโดยตลอด ซึ่งรู้ว่า สามารถไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ไปได้ไม่ไกล จึงคิดว่า หากเรามีการออกแบบใหม่ ทำตลาดที่ดี สินค้าน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าอยากทำอะไรที่ให้ชาวบ้านมีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างรายได้ จึงคิดว่า โครงการนี้ของญี่ปุ่นเป็นโครงการที่ดี และพบว่าภูมิปัญญาของไทย มีงานฝีมืออยู่ทุกที่ทุกภาคในประเทศ ซึ่งสามารถนำมาปรับได้ แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถลงทุน หรือหาตลาดได้ หรือออกแบบใหม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเข้าไปช่วย ถึงจะได้บริษัทของญี่ปุ่นมาช่วย และได้ข้าราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ มาร่วมด้วย ทำให้โครงการ OTOP ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ซึ่งในปีแรก ที่เริ่มต้นทำสินค้า OTOP สามารถขายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ปีต่อมา ได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท และสามารถส่งออกประเทศญี่ปุ่นได้อีกด้วย ซึ่งมีการนำสินค้าไปขายผ่านโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ในการจัดรายการทีวีครั้งหนึ่งขายได้หลาย 100 ล้านบาท ซึ่งตนคิดต่อไปว่า เราจะปรับอะไรอีกต่อไปเนื่องจากการศึกษา และบริหาร ของเรามีปัญหา ไทยยังมีแนวคิดแบบต่างคนต่างทำ จึงคิดว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยน่าจะยังเป็นจุดแข็ง และหากินได้อีกยาว เพราะโลกยิ่งเปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่อยากให้มีสิ่งที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์ และรักษาไว้ เพราะปัจจุบันได้พึ่งพาเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย จึงคิดว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย นอกเหนือจากการตามไม่ทันเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ตนมีโอกาสได้เจอนายปีเตอร์ ฮาร์แนลในช่วงที่อยู่ต่างประเทศ และได้มีโอกาสเจอกัน จึงชวนมาทำโครงการไทยเวิร์ค เพื่อต่อยอดโครงการ OTOP คิดว่าจะสามารถช่วยคนไทยลงไปในระดับรากหญ้าได้ ขณะที่คนระดับบนยังสามารถต่อยอด การตลาดทางด้านการตลาดการเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ต่อไปได้

เมื่อถามว่า ตอนที่เริ่มทำสินค้า OTOP มีครั้งหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ที่นายทักษิณ เคยบอกว่าอยากจะไปตั้งร้าน OTOP ที่อเวนิว ซึ่งจริงๆ แล้วแนวคิดที่แท้จริงนั้น จะไม่ใช่ OTOP อย่างที่เห็นทุกในวันนี้ ซึ่งจะต้องเอาเรื่องการออกแบบ และการดีไซน์ เพื่อนำไปสู่ตลาดโลกให้ได้ โดยหลังจากที่ได้คุยกับนาย “ปีเตอร์” แล้วมีแนวทางที่จะพัฒนา OTOP ต่ออย่างไรบ้าง นายทักษิณ กล่าวว่า จริง ๆ ตนก็คิดวันนั้น ตนมองสินค้าไทยในภาพรวม มีสินค้า OTOP เป็นสินค้าฐาน แล้วก็มีสินค้า SMEs เป็นสินค้าประกอบ ดังนั้นต้องสร้างแบรนด์ แต่บริษัทเล็ก ๆ ถ้าจะสร้างแบรนด์ต้องใช้ตังค์ เป็นจำนวนมากที่จะมานำไปสู่สากล จึงให้เกาะปีกแบรนด์ไทยแลนด์ไปก่อนแล้วกัน เลยจะสร้างแบรนด์ไทยแลนด์ขึ้นมา แต่จะเป็นยี่ห้ออะไรก็ว่ากันไป เมื่อแข็งแรงแล้วก็สร้างแบรนด์ของตัวเองได้ ก็เลยคิดว่าจะทำร้านในเมืองใหญ่ ๆ ที่ช้อปปิ้งทั้งหลาย เป็นโชว์รูมของประเทศไทย
นายทักษิณ กล่าวต่อว่า ช่วงที่คิดคือ ปลายปี 48 แต่การเมืองเริ่มยุ่งแล้ว บ้านเมืองเราจะเสียเวลาเรื่องการเมืองไปโดยไร้สาระมากว่าเรื่องที่เป็นสาระ เลยทำให้เรื่องสาระถูกละเลยเป็นประจำ พอมาเจอ “ปีเตอร์” จึงอยากสานต่อความคิดให้เป็นสากล

ตรงถนนราชดำเนินที่เป็นที่ทรัพย์สินฯ กำลังจะหมดสัญญาลง ตนคิดว่าจะนำมาใช้เป็นร้าน OTOP สลับกับห้องที่เป็นแบรนด์ จะได้ไม่น่าเบื่อ OTOP จะได้เห็นพัฒนาการและปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น เพื่อให้ราคาได้ดีขึ้น วันนั้นคิดแบบนี้แต่พอปีเตอร์ มาช่วยออกแบบก็ใกล้ความที่เราฝันแล้ว สมัยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เตรียมจะทำแบบนี้พอดี แต่มีปฏิวัติเสียก่อนก็เลยพักไป ตอนนี้กลับมาใหม่ เอาของเก่าที่ดีไซน์ไว้มารีเฟซใหม่ทั้งหมด และเรามาดูว่าเราจะ Move อย่างไรต่อ

“จำไว้นะว่าผมเป็นรัฐบาล หรือไม่เป็นรัฐบาล ไม่มีเลิก ที่ทำทั้งหมดออกตังค์เองเพราะต้องการให้เป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ของคนไทย ไม่ใช่เป็นของการเมือง จะได้ทำให้การพัฒนาประเทศหรือการครีเอทีฟต่อเนื่องยาวนาน” นายทักษิณ กล่าว

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นชาวบ้านให้ฟรีไปเลย แต่หากเป็นของธุรกิจ ก็อาจจะบริจาคเงินบางส่วน เพื่อใช้สำหรับหมุนเวียนและพัฒนาดูแลชาวบ้าน ซึ่งนอกจากให้ SMEs ขยายผล ตนยังอยากให้หมู่บ้าน ทุกหมู่บ้าน เป็นหนึ่งโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผลิตสินค้า ที่ดีไซน์จากส่วนกลาง และเป็นทักษะของท้องถิ่น ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ของคนท้องถิ่น

เมื่อถามว่า มีภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้ว จะนำมาพัฒนาต่อแล้วจะกลับไปยังภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า เราเอาแนวคิดและดีไซน์มาปรับให้เป็นสากล แล้วออกแบบและตัวต้นแบบ เพื่อผลิตส่งออก มีซัพพลายที่ต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เราจะปรับจากฝีมือชาวบ้านธรรมดาให้สู่สากลให้ได้ แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่ทิ้งดีไซน์ที่มีความเป็นไทย ไม่ทิ้งความเป็นสุนทรียะของไทย เป็นแกนหลักของสินค้า

เมื่อถามว่า กรณีที่ไม่มีคนรุ่นใหม่ส่งเสริมเรื่องนี้เท่าไรจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจ นายทักษิณ กล่าวว่า ต้องรีบทำให้สินค้า หรือดีไซน์แบบของไทยทำเงินได้ และเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเจนซี จะห่วงเรื่องการเงินของเขามาก ถ้าไม่มีช่องทางหารายได้เขาก็ทิ้ง ถ้าเขาทำเงินได้เมื่อไรเขาก็จะอยู่ต่อไป ไม่มีใครทิ้งสิ่งที่ทำเงินได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่เราต้องทำให้ฟื้นตัว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวทำอะไรก็ขายได้ สมัยที่ตนทำ OTOP ตอนนั้นเศรษฐกิจแก้ไขได้พอดี ทำให้ขายได้ เมื่อปี 2546-2547 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับโทรศัพท์จากคนที่มาออกร้าน ว่า ขอเลี้ยงผู้ว่าฯหน่อยได้หรือไม่ เพราะในชีวิตเพิ่งได้กำเงินล้านครั้งแรก จากการไปขายของที่งาน OTOP ขายได้ล้านหนึ่ง จึงอยากเลี้ยงผู้ว่าฯที่เชิญให้เขาไปร่วมงาน เป็นสิ่งที่ฟังแล้วเป็นปลื้ม เพราะ OTOP ทำให้คนไทยมีรายได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในวันนี้ยากกว่าสมัยก่อน เพราะหมักหมมมาเยอะมาก แต่ต้องแก้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เมื่องาน Thai Works หรือ OTOP ขับเคลื่อนได้ คนรุ่นใหม่จะหันกลับมา จะเป็นช่องทางทำมาหากินอีกช่องทางหนึ่ง

นพ.สุรพงษ์ ถามต่อว่า มีอะไรที่จะเสนอต่อกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เรื่องโครงการไทยเวิร์คหรือไม่ นายทักษิณ ตอบว่า อยู่ที่เรื่องการเอาจริงเอาจัง หากรัฐเอาจริงเอาจังข้าราชการก็ร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ค่อยให้ความร่วมมือมาก่อน โดยวันนี้กระทรวงมหาดไทยต้องให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวสำคัญที่จะนำนโยบายไปสู่ประชาชน คือ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน เขาอยู่ติดกับชาวบ้านที่สุด ซึ่งไทยเวิร์ค หรือ Soft Power เป็น Movement มันไม่ Move ถ้าไม่มีคนช่วย Move คนช่วย Move ที่สำคัญเป็นกลไกสำคัญคือ มหาดไทย ต้อง Move”

ส่วนสินค้าที่คาดว่า จะนำสินค้าไทยเวิร์คสู่ตลาดโลกได้นั้น นายทักษิณ ระบุว่า คือเรื่องผ้า ลายผ้า เพราะไทยมีความเก่ง ซึ่งสามารถนำผ้าไปทำได้หลายแบบ นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์เนื่องจากประเทศไทยมีไม้หลายสายพันธุ์ หากนำมาดีไซน์ดี ๆ จะสามารถสร้างมูลค่าได้ ซึ่งภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมมือกัน และมานั่งคิดกันว่าไทยเวิร์คจะไปช่วยแต่ละหมู่บ้านอย่างไร จะไปดูตลาดอย่างไร

นายทักษิณ กล่าวต่อว่า อะไรที่เจริญหูเจริญตาก็เริ่มดีทั้งนั้น ถ้าไปที่ไหนเห็นแต่กล่องสี่เหลี่ยมไม่ไหว ตนอยู่ที่ดูไบ ไม่ได้บอกว่าชอบมากกว่าประเทศไทย แต่เขาดีไซน์หลากหลายเอาสถาปนิกจากทั่วโลกมาออกแบบตึกก็มีรูปทรงที่ต่างกันและสวยงาม ตนลงเครื่องบินมาถึงประเทศไทยเจอแต่กล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งเราไม่กล้าลงทุนในเรื่องดีไซน์ จริง ๆ แล้วเราเป็นประเทศที่มีความสวยงามอยู่แล้ว ขณะที่ตนชอบเรื่องศิลปะ และเทคโนโลยี

ในช่วงหนึ่ง นายทักษิณ กล่าวว่า วันนี้ AI เก่งมาก เก่งจนตนกลัว และกลัวหนักว่าคนไทยจะไม่ยอมตามให้ทัน เพราะ AI แพลนได้หมด โดยไม่ต้องทำอะไร วันนี้ นายกฯ บอกว่า เราน่าจะทำ Virtual Training AI ให้กับประชาชน เรียนเสร็จแล้วค่อยให้โทเคน เรียนก่อนเพื่อไปใช้ สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยเรื่องครีเอทีฟอีโคโนมี เราจะใช้ความเป็นยูนีกของคนไทยไปสู่โลกให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร มีแนวคิด โดยในจังหวะนั้น นายทักษิณ ชี้มือไปที่ น.ส.แพทองธาร และบอกว่า นายกฯ ก็นั่งตรงนี้ ก่อนที่ นพ.สุรพงษ์ ได้ทักขึ้นว่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า แพลนของ Thai Works หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง จะมีโอกาสพัฒนาสินค้า OTOP เมื่อใด นายทักษิณ กล่าวว่า วันที่ 10 ก.ค. นายปีเตอร์จะมานั่งสรุปทั้งหมด และจะเอาแนวคิดนี้มาแยกว่า อะไรจะลงหมู่บ้านหรือชุมชน จะฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยกัน เรื่อง SME อาจจะขยายตัวได้ดี วันนี้ SME ของเรามีปัญหา เพราะโดนจีนเอาของถูกมาขาย ถ้าเราปรับปรุง SME ก็จะนำเรื่องนี้เข้า ตนอาจจะเชิญ SME มาคุยกัน ว่าใครจะทำอะไร ก็จะช่วยกัน ซึ่งมูฟเมนต์ของ Thai Works จะลงไป 2 ระดับ แต่ระดับที่จะเข้าสู่ตลาดโลก เราจะใช้ทีมของปีเตอร์ ที่มีความกว้างขวางในวงการตลาดโลก รู้จักแบรนด์ต่าง ๆ ว่าเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร นี่จะเป็นเรื่องต่อไปรอให้นายกรัฐมนตรีกลับได้กลับไปทำงานร่วมกัน

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า ตนเป็นคนใจร้อน เพราะตอนนี้ก็ 76 แล้วไม่รู้จะอยู่ได้อีกกี่ปี ต้องรีบ ๆ ทำ
นพ.สุรพงษ์ ถามอีกว่า อยากจะเห็นวงการภาพยนตร์ไทยพัฒนาอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า ตนเป็นคนประเภทที่ทำมาทุกอย่าง ผ่านมาเยอะทำหนังก็ทำมาแล้ว สมัยก่อนหนังไทยสร้างหยาบ ๆ ดี ๆ ก็มี เรื่องไหนดีก็ได้ตุ๊กตาทอง แต่ไม่ได้ตังค์ก็สร้างดีไป แต่หนังหยาบ ๆ กลับได้ตังค์ คนเดินสายหนังภาคเหนือ ล้มลุกคลุกคลาน วงการหนังกู้แบงก์ไม่ได้ ต้องแลกเช็คเพราะแบงก์ไม่เชื่อถือ เป็นธุรกิจ 50-50 จะเจ๊งหรือจะรวยก็ไม่รู้

ส่วนวันนี้เรื่องภาษาไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะระบบ AI แปลภาษาได้ดี และละเอียดมากเพราะฉะนั้นสามารถไปฉายได้หลายประเทศก็ต้องเปิดตลาดทางลัด โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมต่างประเทศจะต้องเจรจาคุยกันว่าแลกเปลี่ยนหนังซึ่งกันและกัน แต่ภาพยนตร์ของเราเชื่อหรือไม่ เป็นสคริปต์ที่คนในระดับฮอลลีวูดเริ่มซื้อไปแปลไปดัดแปลง “เพราะคนไทยเขียนนิยายเก่ง โดยเฉพาะการเมืองเนี่ยนิยายน้ำเน่าเยอะมาก”


กำลังโหลดความคิดเห็น