“ศิริกัญญา” ช็อก! ไทยติดกลุ่มแรกสหรัฐฯ ส่งจดหมายโขกภาษี 36% ชี้บีบให้จนมุนด้วยเดดไลน์ จนต้องยอมคายข้อเสนอเสี่ยงสูง เชื่อยังมีลุ้นได้ลด แนะคลังปรับงบ 69 ให้เข้าสถานการณ์ พร้อมจี้ถามถึงสัญญาจ้างล็อบบี้ยิสต์ แต่ผลเจรจากลับไม่เป็นที่น่าพอใจ หวั่น 200 ล้านบาทสูญเปล่า
วันนี้(8 ก.ค.) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งไทยยังคงเดิมที่ 36% ว่า เป็นเรื่องค่อนข้างช็อก ตอนแรกที่มีการประกาศว่าจะส่งจดหมาย เรายังไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในรอบแรก เนื่องจากเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่ได้รับจดหมาย
"การที่จบที่ 36% คิดว่าเป็นการบีบต้อนให้เราจนมุม ด้วยเดดไลน์ ทำให้ต้องคายข้อเสนอที่ยังตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษี 36% ดังนั้น 36% คงเป็นอัตราสูงสุดที่เราจะได้รับ คงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้แล้ว เพราะหลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย จึงถือว่ายังมีช่วงเวลาให้เราได้หายใจ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอใหม่ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้ตนเข้าใจว่าถูกส่งไปตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.แล้ว จึงต้องรอท่าทีของทางสหรัฐอเมริกา จะเป็นอย่างไร" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
เมื่อถามว่าข้อเสนอลดสินค้าเกษตรของไทย จะทำให้ผลการเจรจาดีขึ้นหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่า สินค้าเกษตรดังกล่าวมีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอที่ จะเก็บภาษี 0% ใน 90% ของสินค้าสหรัฐที่นำเข้ามาในไทย เมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่ประกาศไปแล้วว่าจะลดเหลือ 0% ทุกรายการของสินค้าสหรัฐ ทำให้ได้ลดอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ก็อาจจะทำให้ข้อเสนอของไทย ไม่ได้น่าดึงดูดนัก ขณะเดียวกันเราคงต้องขอดู ทั้ง 90% ของรายการสินค้าสหรัฐที่ไทยจะลดภาษีให้ มีอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ดังนั้น โอกาสที่จะกระทบต่อเกษตรกรไทย ก็ค่อนข้างสูง
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเทหมดหน้าตักเหมือนเวียดนามหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะหากเทหมดหน้าตักก็คงไม่ได้ไปลดไปต่ำกว่า 20 % และยังต้องดูอีกว่าถ้าได้เท่าๆกับประเทศคู่แข่ง ไม่ใช่ว่าเราจะได้เปรียบ เพราะขึ้นอยู่กับการทำกำไรของผู้ประกอบการ ตัวอย่างเช่น เวียดนาม หากเขาทำกำไรได้ ราว 20% เขาก็สามารถลดราคาผู้นำเข้าได้ 20% ทำให้เรื่องภาษีไม่มีผลกระทบต่อเขาเลย ซึ่งในขณะที่ไทย เสียเปรียบในต้นทุนการผลิตสินค้า ที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ค่าไฟฟ้า และวัตถุดิบอื่นๆ ทำให้เราไม่สามารถตัดราคาแข่งกับคู่แข่งได้ จึงต้องมาดูแล รายละเอียดรายสินค้าอีกทีหนึ่ง
ส่วนเรื่องของการย้ายฐานการผลิต ก็เป็นเรื่องที่หนึ่งที่ไทยต้องกังวลขึ้น ตอนนี้ฝุ่นยังตลบค่อนข้างมาก ยังไม่รู้ว่าภาษีสุดท้ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ และความสามารถในการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนก็ไม่เท่ากัน ไม่คงที่ สินค้าที่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ง่ายก็อาจจะตัดสินใจย้าย แต่สุดท้าย ก็ต้องรอการเจรจาให้เสร็จสิ้นลงก่อนทุกประเทศ ซึ่งคู่แข่งอาจจะไม่ใช่ในภูมิภาคเดียวกันด้วยซ้ำไป เพราะอินเดีย ขณะนี้ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักลงทุน เช่น สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์
นางสาวศิริกัญญา ยังยอมรับว่า ตอนนี้เรายังพอมีหวังที่จะได้ลดอัตราภาษี การขยับเดดไลน์ครั้งนี้เป็นการขยับเดดไลน์การจัดเก็บภาษี จากที่จะเริ่ม 9 ก.ค. ขยับไปเป็น 1 ส.ค. ถึงแม้เราจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้ลดอัตราภาษีน้อยลงกว่า 36% ยังมีอยู่ จึงต้องลุ้นว่า ข้อเสนอที่ส่งไปใหม่สหรัฐอเมริกาจะยอมรับหรือไม่ และก็ต้องคำนึงด้วยว่า สิ่งที่เราเสียสละไป เพื่อที่จะแลกกับอยู่บนโต๊ะเจรจา มีสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบ
"การบีบการขู่ ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบ ให้เราจนมุมขนาดนี้ ก็ทำการทำให้การเจรจามีแรงกดดันสูงมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเราได้ให้อะไรที่ไม่สมควรที่จะให้ ไว้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะเลย เพราะถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆก็คงต้องเตรียมแผนรองรับ และยาวๆผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทางภาคส่งออกเอง ถ้าโดน 20% ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะแข่งขันได้ หรือโดนเกิน 20% เพราะเราไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีแบบทางเวียดนาม ก็ต้องยิ่งเตรียมตัวรับผลกระทบหนัก"
นางสาวศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า หลังการเจรจาเดือน เม.ย. ยังไม่ค่อยเห็นรัฐบาลเตรียมการ เยียวยาผลกระทบให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกร ที่ผ่านมามีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ประมาณหมื่นล้านเศษ ให้กับผู้ที่รับผลกระทบกับสงครามการค้า แต่มันน้อยนิดเหลือเกิน ซึ่งโครงการที่ใหญ่ที่สุด คือ ให้ประกันสังคมปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อพยุงการจ้างงาน ไม่แน่ใจว่าจะพยุงได้กี่ตำแหน่งงาน ถือมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากหน้าตักทางการคลัง ก็ลดน้อยลงไปทุกที
นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวถึง การจ้างล็อบบี้ยิสต์ เพื่อเจรจากับสหรัฐ ว่า ตนเป็นคนแรกๆที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าได้ทำสัญญากันไปครบถ้วนหรือไม่ ทั้งทางฝั่งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่คาดว่าน่าจะยังทำสัญญาได้ไม่เสร็จสิ้น เพราะถ้าจะทำสัญญาแล้ว จ่ายเงินไปกว่า 200 ล้านบาท น่าจะได้ผลการเจรจาที่ดีกว่านี้ ได้พบคนสำคัญมากกว่านี้ จึงขอภาวนาว่ายังใช้เงินไม่หมด และใช้เงินน้อยกว่า 200 ล้านบาท เพราะผลที่ได้ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่ และก็ยังพูดได้ยากว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เพราะยังไม่เซ็นสัญญาว่าจ้าง ถ้าทำสัญญาเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 หน่วย ก็จะเสียเงินเดือนละ 400,000 บาท US Dollar หรือเป็นอัตราที่สูงมาก ก็คงต้องถือว่าเป็นการตำน้ำพริกมาหลายแม่น้ำจริงๆ
นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวตอบด้วยว่า ในคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 พรรคประชาชน เสนอจัดทำงบประมาณใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์เรื่องการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้จะเสนอใหม่อีกครั้ง แต่ต้องให้นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการมา มาอธิบายก่อน
เมื่อถามว่ามีการเปรียบเทียบว่าประเทศกัมพูชาได้ลดจาก 49% เหลือ 36% เท่าไทย นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตามที่ประกาศใหม่ไม่มีประเทศไหนได้เกิน 40% กัมพูชาบอกว่าเจรจาเรียบร้อยแล้วและกำลังจะแถลง แต่ก็โดนจดหมายนี้ด้วย แต่เมื่อดูปริมาณการค้ากับทางสหรัฐอเมริกา กัมพูชา ถือว่าเบาบางมาก และไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไร แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาได้เจรจาก่อนหน้าไทย ไปที่สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ไม่แน่ใจมีความคืบหน้าไปกว่าประเทศไทยหรือไม่
เมื่อถามว่าเป็นเพราะเราเริ่มช้าหรือไม่ทำให้ผลการเจรจาออกมาแบบนี้ นางสาวศิริกัญญา ยอมรับว่ามีผลมาก เพราะตอนนี้หลายๆประเทศ เหลือรายละเอียดอีกไม่กี่อย่าง ที่ยังตกลงกันไม่ได้ และการที่พูดคุยกันหลายรอบ ก็มีการปรับเปลี่ยนข้อเสนอกันตามเดดไลน์ที่กำหนด เหลือเพียงเล็กน้อยก็บรรลุข้อตกลง แต่สำหรับประเทศไทยกลายเป็นว่าพูดคุยไปเพียงแค่ครั้งเดียว และโดนบีบให้จนมุมด้วยเดดไลน์ที่กระชั้นชิด ทำให้เราต้องยื่นข้อเสนออะไรบางอย่าง ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตามต้องรอให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยอย่างจริงจังในข้อเสนอล่าสุดที่ส่งให้สหรัฐไป รวมไปถึงจะต้องได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และจะมีการเยียวยาอย่างไร