สสส.-เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกาศเจตนารมณ์ 12 ประเด็น 34 เป้าหมาย ผลักดันคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ควบคุมบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า-เสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนพัฒนา-เสริมความเข้มแข็งของประเทศ ขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนยั่งยืน
วันนี้( 5 ก.ค. 2568 )สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2568” วาระ “พลังชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ” โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 3,000 คน และเข้าร่วมออนไลน์กว่า 30,000 คนทั่วประเทศ พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบ 128 แห่ง ที่มีระบบและกลไกการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เกียรติบัตรเหล่านี้เป็นพลังใจ เป็นเครื่องยืนยันว่า ‘สุขภาวะสร้างได้’ หากชุมชนร่วมกันลงมืออย่างจริงจัง การขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนต้องอาศัย 3 หัวใจหลัก 1. สานพลัง การรวมพลังจากภาคีทุกภาคส่วน ทั้งท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ เอกชน และภาคประชาสังคม พัฒนาศักยภาพผู้นำท้องถิ่น และหนุนเสริมเครือข่ายนักสร้างเสริมสุขภาวะ 2. สร้างนวัตกรรม ชุมชนต้องใช้ทุนทางสังคมที่มี ผสานองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ สร้างนวัตกรรมสุขภาวะทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการเมืองการปกครอง 3. นำสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน ผ่านกลไกที่ชุมชนเป็นเจ้าของและจัดการตนเองได้ บูรณาการงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สร้างพลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
“การมีสุขภาวะชุมชนที่ดี คือการที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพ มีรายได้ และมีความรู้ในการดูแลสุขภาพและมีความสามารถในการจัดการตนเอง สสส. กำหนดให้ ‘แผนสุขภาวะชุมชน’ เป็น 1 ใน 15 แผนหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นกลไกสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์กรหลัก 1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2. ท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) 3. องค์กรชุมชน 4.หน่วยงานรัฐในพื้นที่ รวมกว่า 3,658 ตำบลทั่วประเทศ พร้อมด้วยสถาบันวิชาการ องค์กรเอกชน และศูนย์สนับสนุนวิชาการ ร่วมกันขับเคลื่อนผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน เป้าหมายสำคัญคือ การเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และรับมือกับวิกฤตที่กระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยเชื่อมั่นว่า การสานพลัง สร้างนวัตกรรม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประสบการณ์ของเครือข่ายสุขภาวะทั่วประเทศ จะนำไปสู่การสร้าง ชุมชนสุขภาวะที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน มี 4 แนวทางหลัก คือ 1. การใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลง 2. ใช้ศาสตร์ของพระราชา น้อมนำเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ระเบิดจากข้างใน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการทำเครื่องมือในการทำงาน 3. สานพลังทุกภาคส่วน บูรณาการการทำงานร่วมกันของ 4 องค์กรหลัก (ท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐในพื้นที่) รวมทั้งภาควิชาการ และภาคประชาสังคม 4. การประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน 12 ประเด็น 34 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 2. ความปลอดภัยทางถนน 3. ระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ 4. ดูแลผู้ป่วยจิตเวช 5. รับมือวิกฤติสิ่งแวดล้อม 6. พัฒนาเด็กและเยาวชน 7. พัฒนาศูนย์ชุมชนแบบบูรณาการ 8. ระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน 9. เศรษฐกิจชุมชนและหนี้ครัวเรือน 10. ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม 11. จังหวัดจัดการสุขภาวะชุมชน เชื่อมโยงจากหมู่บ้านถึงจังหวัด 12. ขับเคลื่อนสมัชชาชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบสุขภาพ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขอร่วมเป็นพลังเชื่อมโยงทุกฝ่าย ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และสร้างสุขภาวะของประเทศอย่างยั่งยืน