ครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
วันนี้ (วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ แนวทางการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยใช้กรอบวงเงินงบประมาณตามที่ได้รับการจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 และได้มีการปรับปรุงกรอบวงเงินงบประมาณของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFls) ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว โดยมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ทั้ง 6 แห่ง ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) แต่ละแห่งต่อไป
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังให้ความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งได้รับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งรับทราบเป้าหมายลูกหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือลดภาระหนี้ผ่านมาตรการของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ โครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2 มีหลักการสำคัญเช่นเดียวกับการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ในระยะแรก คือ (1) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้หนี้ (2) มาตรการเฉพาะกลุ่มที่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ และ (3) เป็นมาตรการชั่วคราว ที่มีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (Moral Hazard) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1) มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะดังต่อไปนี้
1.1 หนี้ที่มีการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 30 วัน จนถึง 365 วันนับแต่วันถึงกำหนดชำระ หรือ
1.2 หนี้ที่ไม่มีการค้างชำระหรือค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 30วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ที่เคยมีประวัติการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 รวมถึงภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lendine) ในปี 2567)
1.3 หนี้ที่ไม่มีการค้างชำระหรือค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 30 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ที่เคยมีประวัติการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 รวมถึงภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsle Lending) ในปี 2567
1.4 หนี้ที่มีการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 365 วันเป็นต้นไป นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
ทั้งนี้ ประเภทสินเชื่อและวงเงินสินเชื่อ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการ และรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไขของมาตรการ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567
2) มาตรการจ่าย ปิด จบ ขยายคุณสมบัติลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ ดังนี้
2.1 ลูกหนี้บุคคลธรรมตาที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วันนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
2.2 ลูกหนี้คือมีภาระหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ไม่เกินเพดานที่กำหนดของแต่ละประเภทสินเชื่อ ดังนี้
2.2.1 กรณีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) กำหนดภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 10,000 บาท ต่อบัญชี
2.2.2 กรณีสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) กำหนดภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 30,000 บาท ต่อบัญชี และมีวงเงินสินเชื่อต่อบัญชีตามที่กำหนด โดยลูกหนี้แต่ละรายสามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไขของมาตรการ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567
3) เพิ่มเติมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มสำหรับสำหรับหนี้ NPLS ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) (มาตรการจ่าย ตัด ต้น) (เป็นมาตรการใหม่ที่เสนอมาในครั้งนี้) โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข คือ
3.1 ปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไซเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระค่างวดต่อเดือนขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดเงินต้นคงค้างสินเชื่อก่อนเข้าร่วมมาตรการ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่ลูกหนี้ชำระจะนำไปชำระต้นเงินทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 3 ปี
3.2 ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการจะไม่สามารถก่อหนี้อุปโภคบริโภคใหม่ใน 12 เดือนแรก
3.3 หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ปี สถาบันการเงินจะยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินจะขอชดเชยดอกเบี้ยจากแหล่งเงินทุนภาครัฐร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ยกเว้นให้ลูกหนี้ และสถาบันการเงินจะรับภาระร้อยละ 50