xs
xsm
sm
md
lg

“ครูธัญ” ปลื้ม ความเท่าเทียมทางเพศขยายวงกว้าง ชี้ความหลากหลายคือพลังทาง “เศรษฐกิจ-สังคม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ครูธัญ” ปลื้ม ความเท่าเทียมทางเพศขยายวงกว้าง ชี้ความหลากหลายคือพลังทาง “เศรษฐกิจ-สังคม” ย้ำ DEI ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ แต่คือโครงสร้างที่สร้างผลลัพธ์จริง

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เข้าร่วมงาน One Bangkok One Pride 2025 ซึ่งจัดขึ้นใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวแสดงความชื่นชมต่อ One Bangkok ที่เปิดพื้นที่แห่งความหลากหลาย และเชื่อมั่นว่างานนี้ จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมที่ไม่เพียงยอมรับความหลากหลาย แต่ยกระดับสู่การออกแบบโครงสร้างที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง


นายธัญวัจน์กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2563 ที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้เข้าสู่สภาฯ เป็นครั้งแรกโดยพรรคก้าวไกล เสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศก็เริ่มขยายวงกว้าง ไม่เพียงแค่ในระดับนโยบาย หากแต่สะท้อนผ่านวัฒนธรรม สื่อ และกิจกรรม Pride ที่เติบโตในทุกมิติ

“ความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่อัตลักษณ์ส่วนบุคคล แต่คือประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นการร่วมกันสร้างความเข้าใจระหว่างภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาครัฐ เพื่อให้ความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายทางเพศมีส่วนร่วมในโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง” นายธัญวัจน์ กล่าว


นายธัญวัจน์ ยังกล่าวถึงแนวทางสำคัญอย่าง UNGPs (หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน) และแนวคิด DEI (Diversity, Equity, and Inclusion) ว่าไม่ใช่เพียงเครื่องมือปรุงแต่งภาพลักษณ์องค์กร แต่พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการรักษาพนักงาน ความพึงพอใจของลูกค้า และผลกำไรระยะยาว โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ McKinsey & Company (2023) ที่ระบุว่า องค์กรที่มีผู้บริหารหลากหลายมีโอกาสทำกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 36% ขณะเดียวกัน Gallup ยังพบว่าองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมปลอดภัยเชิงจิตวิทยา มีความผูกพันของพนักงานสูงกว่าถึง 20%

“แนวคิด DEI ยังคงถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายองค์กร โดยเฉพาะ เมื่อกิจกรรมเพื่อความหลากหลายถูกทำให้กลายเป็นเพียง CSR เชิงสัญลักษณ์ เช่น การเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้ง การจัดกิจกรรมถ่ายรูป โดยไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการจ้างงาน สวัสดิการ หรือช่องทางร้องเรียนที่ปลอดภัยให้กับพนักงาน LGBTQ+ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรและแบรนด์ในระยะยาว และอาจสะท้อนถึงธรรมาภิบาลที่ว่างเปล่าซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการเลือกปฏิบัติได้จริง” นายธัญวัจน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น