xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าตั้งหน่วยงานพิเศษ ใน 7.8 พัน อปท."ศูนย์การมีส่วนร่วมฯ"ฉบับท้องถิ่น ให้อำนาจชาวบ้านขับเคลื่อนทุกขั้นตอน ร่วมนักเลือกตั้งท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินหน้าตั้ง "หน่วยงานพิเศษ" ใน 7.8 พันอปท.ทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน" ในท้องถิ่น ทั้ง อบจ.-เทศบาล 3 ระดับ และ อบต." ให้อำนาจประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายทุกขั้นตอน กับ "นักเลือกตั้งท้องถิ่น" ให้ได้เป็นรูปธรรม เบื้องต้น "กกถ." เป็นพี่เลี้ยง ร่วมคัดเลือก "ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชุมชน" ประจำ อปท. "กำหนดประเด็นพัฒนา-แก้ไขปัญหาพื้นที่" ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่/กฎหมาย อปท.

วันนี้ (6 มิ.ย.2568) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (กกถ.ชุดใหญ่)

เตรียมดำเนินการ สรุปผลการศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางการจัดตั้งและขับเคลื่อน "ศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน" ในอปท.

คาดว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นใน 7,848 อปท. ทั้ง องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาลขนาดใหญ่ทุกแห่ง ได้แก่ เทศบาลนคร (ทน.) 30 แห่ง และเทศบาลเมือง (ทม.) 192 แห่ง เทศบาลตำบล (ทต.) 2,247 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,303 แห่ง

เบื้องต้น คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในอปท. พ.ศ. 2568 ขึ้นมา โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ

เน้นให้เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและพัฒนาให้ประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและระดมความคิดเห็นของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับอปท.ในการบริหารราชการ

รวมทั้ง พัฒนาและแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมรวมถึงการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงาน

"ในเร็วๆนี้ จะรายงาน กกถ. ชุดใหญ่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กกถ. รับทราบแนวทางการจัดตั้ง ให้ อปท. ทุกแห่งจัดตั้ง ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในอปท. ประจำ.... (ชื่อ อปท.)”

ศูนย์ฯดังกล่าว จะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ" โดยให้กรรมการบริหารศูนย์คัดเลือก "ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชุมชน" เป็นประธานกรรมการ และนายก อปท. เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง

เบื้องต้นศูนย์ฯ จะมีหน้าที่และอำนาจ ในการกำหนดแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ภารกิจของ อปท. อำนาจในกำหนดแนวทางการส่งเสริม

"และ "เปิดโอกาส" ให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกลไกกิจกรรมและดำเนินงานต่าง ๆ ของอปท.ทุกขั้นตอน ทั้งในด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม"

ในระยะต่อไป อปท. จะร่วมกับ คณะกรรมการศูนย์ฯ ร่วมปรึกษาหารือกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และติดตามผลการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงาน ก.ก.ถ. กำหนด เป็นประจำอย่างน้อย
ไตรมาสละ 1 - 2 ครั้ง

ให้แต่ละศูนย์ฯ พิจารณากำหนดวิธีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภารกิจของ อปท. ในการกระจายอำนาจ ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน

และช่องทาง วิธีการในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานของ อปท. และให้ อปท. ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการศูนย์กำหนด

ให้แต่ละศูนย์ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อ "กำหนดประเด็นการพัฒนา" หรือ "การแก้ไขปัญหาในพื้นที่" ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ตามกฎหมายหรือที่ อปท. ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

"เช่น ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหาภัยแล้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาความยากจน ปัญหาพืชผลทางการเกษตร ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ปัญหายาเสพติด การดูแลผู้สูงอายุ การเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก ปัญหาคนไร้สัญชาติ ปัญหาคนเร่ร่อน ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค การคมนาคม อุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น"

และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการอย่างน้อยศูนย์ละ 1 ประเด็น และให้ อปท.ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการศูนย์กำหนด

"งบประมาณในการดำเนินการของศูนย์ฯ ให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ข้อ 11 ค่าใช้จ่ายที่เป็น ค่าใช้สอย (5) ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมราชการของ อปท. เป็นต้น"

ทั้งนี้ เบื้องต้น สำนักงาน ก.ก.ถ. จะเป็นพี่เลี้ยง จัดให้มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ 3 ระยะ ในทุก อปท. และภายใน 6 เดือน จะให้ดำเนินการรายงานผล ให้มีศูนย์ฯต้นแบบเข้าศึกษาเรียนรู้ เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น