xs
xsm
sm
md
lg

UNFPA ประเทศไทย ร่วมเฉลิมฉลอง Bangkok Pride 2025 อย่างยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



UNFPA ประเทศไทย ร่วมเฉลิมฉลอง Bangkok Pride 2025 ภายใต้ธีม “Born This Way” ส่งเสริมความรัก ความเท่าเทียม และการมองเห็นตัวตน พร้อมเน้นย้ำสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

น.ส.สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเทศไทย ร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ปีนี้ ด้วยการร่วมงาน Bangkok Pride 2025 และร่วมจัดกิจกรรม Pride Talk เพื่อเน้นย้ำพันธกิจที่มั่นคงต่อความเท่าเทียมทางเพศ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสิทธิมนุษยชน โดยร่วมมือกับคณะทำงานของสหประชาชาติประจำประเทศไทย ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมทั้งรัฐบาล และมีความภูมิใจที่ได้ยืนหยัดเคียงข้างชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้สิทธิการสมรสอย่างเท่าเทียมกับประชาชน


นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 โดยงาน Bangkok Pride Parade 2025 นั้นถือเป็นหนึ่งในงาน Pride ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน รวมทั้งแรงสนับสนุนที่เพิ่มพูนขึ้นในภูมิภาคนี้ต่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการยอมรับ ขบวนพาเหรด Pride ในวันที่ 1 มิ.ย. 2568 มีระยะทาง 2 กิโลเมตร จากสนามกีฬาแห่งชาติถึงเซ็นทรัลเวิลด์ โดยคาดว่าจะเป็นขบวนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน รวมถึงกิจกรรม Pride Talk และกิจกรรมวันที่ 2 มิ.ย.2568 ณ ลานเอเทรียม สยามเซ็นเตอร์ มีเสวนาชื่อว่า “Born Bold: Celebrating Identity” เฉลิมฉลองทุกอัตลักษณ์ เปิดพื้นที่ให้เสียงจากชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถ่ายทอดประสบการณ์และจินตนาการถึงอนาคตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีการอาทิ การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ความจำเป็นของพื้นที่ปลอดภัย และความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับจากสาธารณชน


“เราไม่ได้ฉลองแค่กฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ยังเฉลิมฉลองความรัก ความกล้าหาญ และความเข้มแข็งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นความก้าวหน้าที่ลึกซึ้ง แต่ไม่ใช่จุดหมายสุดท้าย เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะบุคคลข้ามเพศ non-binary และ intersex ซึ่งยังขาดการรับรองและการคุ้มครองตามกฎหมาย”


น.ส.สิริลักษณ์กล่าวว่าเดือนแห่งความภาคภูมิใจไม่เพียงเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่ยังเป็นเวลาของการทบทวน และการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เราร่วมเปล่งเสียงแห่งความภาคภูมิใจ เราก็ต้องยกระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับงานที่ยังคงต้องทำต่อไป กฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่จิตใจ ความคิด และระบบทั้งหลายก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เราต้องการการมีส่วนร่วมของสาธารณชน การให้ความรู้ และความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

กิจกรรมในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของ UNFPA เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 ด้านความเท่าเทียมทางเพศ และเป้าหมายที่ 10 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังสอดคล้องกับการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (ICPD) ซึ่งยังคงกำหนดทิศทางลำดับความสำคัญระดับโลกในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชน


“จากกรุงเทพมหานครสู่โลกใบใหญ่ ขอให้ Pride เป็นสัญลักษณ์ที่เตือนใจว่า ความก้าวหน้าที่แท้จริงคือการคุ้มครองสิทธิของทุกคนให้มีชีวิตอย่างเสรี รักได้อย่างเต็มที่ และได้รับการรับรองในตัวตนที่พวกเขาเป็นโดยกฎหมาย ขอให้เดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้จุดประกายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องสู่อนาคตที่ทุกกล่ม ทุกเพศและทุกวัยได้รับการปฏิบัติด้วยศักดิ์ศรีและความเคารพ” น.ส.สิริลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น