“ภูมิธรรม” แถลงผ่านเฟซบุ๊ก ยันหารือสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชากับกองทัพตลอด ปิดด่านจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจ กระทบกับชีวิตประชาชน ทำให้ยากต่อการคลี่คลายสถานการณ์ ย้ำกองทัพกับรัฐบาลเป็นเอกภาพ มีพันธะสัญญารักษาความสงบสุขให้ประชาชน
วันนี้(2 มิ.ย.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Phumtham Wechayachai” ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้ขอสั่งเบรกการขอปิดด่านชายแดนกัมพูชาของกองทัพ ทำให้ฝ่ายกองทัพไม่สบายใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรียน สื่อมวลชน ทุกท่าน
ตามที่มีข่าวกระจายกันในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายทหาร ในการจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา และ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดต่อปัญหาการจัดการระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการปิดด่านชายแดน ผมขอยืนยันว่า.. ผมกับกองทัพฯ ได้หารือร่วมกันหลายครั้ง และเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลทั้งสองประเทศต่างพยายามหาทางออกในการคลี่คลายวิกฤติ โดยยึดผลประโยชน์ประชาชนและอธิปไตยของชาติเป็นสำคัญ เราจึงกำหนดขอบเขตในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และพยายามลดเงื่อนไขที่จะระงับยับยั้งมิให้เหตุการณ์ความขัดแย้งขยายตัวมากไปกว่านี้
สำหรับเรื่องการปิดชายแดนขณะนี้..รัฐบาลเห็นว่า ท่าทีและการแสดงออกของทั้งสองประเทศ ยังเป็นการแสดงออกที่สามารถลดระดับความรุนแรงได้ เพราะการปิดด่านชายแดนแม้ไม่ใช่เรื่องการสู้รบทางตรง แต่กลับจะเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตประชาชน ทำให้สถานการณ์ยากต่อการคลี่คลายแต่ขณะเดียวกันกองทัพก็ตั้งอยู่ในความระมัดระวังและไม่ได้ละเลยในการปกป้องตนเองและอธิปไตยเหนือดินแดน ขณะนี้รัฐบาลร่วมกับกำลังเหล่าทัพและกระทรวงต่างประเทศ กำลังใช้กลไก JBC เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดเวทีถกเถียงตามข้อเท็จจริงตามกฎหมาย
ผมจึงขอเรียนชี้แจงยืนยันว่ารัฐบาลและกองทัพมีความเป็นเอกภาพ และมีพันธะสัญญาที่มั่นคงในการรักษาความสงบสุขให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความปลอดภัยมากที่สุด ขอให้มั่นใจว่าเราจะหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความสูญเสียทั้งสองฝ่ายในทุกด้าน ที่ผ่านมาเราร่วมกันใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ทั้งการประชุม หารือ การศึกษาข้อมูลและผลกระทบด้านต่าง ๆ เพื่อจะให้การจัดการ ความขัดแย้งในครั้งนี้มีทางเลือกที่เหมาะสม จนสามารถดำเนินการให้ยุติลงด้วยวิถีทางตามหลักสันติภาพ และยุติธรรมในที่สุด เพื่อผลประโยชน์และความสงบสันติของประชาชนทุกฝ่าย