xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.พัฒนาสังคมวุฒิสภาถกเข้มสมาคมบ้านหญิงเยอรมนี หาแนวทางคุ้มครองสิทธิ์หญิงไทย-แรงงานไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.พัฒนาสังคมวุฒิสภาเยือนเยอรมนี หารือสมาคมบ้านหญิงเยอรมนีเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือหญิงไทยและแรงงานไทย พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิ์

วันนี้(27พ.ค) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา นำโดย นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ ได้เข้าร่วมการประชุมหารือกับสมาคมบ้านหญิง เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดูแลและคุ้มครองหญิงไทยที่พำนักหรือสมรสกับชาวเยอรมัน รวมทั้งแรงงานไทยในเยอรมัน ตลอดจนแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิหญิงไทยและแรงงานไทยในยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันอังคารที่ 20 พ.ค.68 เวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ สมาคมบ้านหญิง (Ban Ying Association) กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี Ms. Lea Rakovsky ผู้จัดการโครงการสมาคมบ้านหญิง และนางปาริชาติ ไพ ผู้ประสานงานของสมาคมบ้านหญิงให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานของสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 โดยนักสังคมสงเคราะห์ชาวเยอรมัน เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ชาวต่างชาติที่ประสบปัญหาในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเฉพาะด้านความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาทางกฎหมาย และอุปสรรคด้านภาษา

สมาคมบ้านหญิงมีจุดเริ่มต้นจากการช่วยเหลือหญิงไทยและแรงงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและเข้าไม่ถึงสิทธิด้านต่างๆ ปัจจุบันขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมผู้หญิงจากหลากหลายประเทศทั้งจากเอเชียและแอฟริกา โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 2 ด้าน ได้แก่ 1. การให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่ประสบปัญหา และ 2. การให้คำปรึกษาทั้งทางด้านกฎหมายและสังคมอย่างรอบด้าน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ 2. หญิงหรือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และ 3. หญิงที่สมรสกับชาวเยอรมัน ซึ่งระหว่างรอกระบวนการขอวีซ่าพำนักถาวร อาจตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัว และมีข้อจำกัดด้านสิทธิต่างๆ ทั้งนี้ การให้บริการของสมาคม ดำเนินการโดยสมัครใจความสมัครใจของผู้มาขอรับความช่วยเหลือ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และยึดหลักการรักษาข้อมูลเป็นความลับอย่างเคร่งครัด โดยสมาคมได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากรัฐบาลท้องถิ่นของกรุงเบอร์ลิน และนอกจากการช่วยเหลือในระดับบุคคลแล้ว สมาคมบ้านหญิงยังมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีเครื่องมือที่ดีและมีประสิทธิภาพในการค้นหาผู้กระทำผิด การดำเนินงานด้านการสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อมวลชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเสนอข้อมูลเชิงนโยบายต่อองค์กรทางการเมือง เพื่อผลักดันการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลและรูปแบบการคุ้มครองผู้หญิงข้ามชาติของสมาคมบ้านหญิง เพื่อนำมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายและพัฒนากลไกคุ้มครองและช่วยเหลือหญิงไทยรวมทั้งแรงงานไทยตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น