xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์ ยุบ "พิงคนคร" ก่อนแปลงเป็น "องค์การมหาชน ไนท์ซาฟารี" คืบ 2 ร่าง พ.ร.ฎ.ลดซ้ำซ้อน พ่วงแผนลดภาระงบฯ-เยียวยา 166 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหากาพย์ ยุบ "พิงคนคร" ก่อนแปลงเป็น "องค์การมหาชน ไนท์ซาฟารี" ครบ 10 ปี สมบัติยุค สทร. รัฐบาลจ่อออก พรฎ. 2 ฉบับ ตั้ง “องค์การบริหาร" พ่วงปรับบทบาท "องค์การสวนสัตว์ฯ" ห้ามดำเนินการสวนสัตว์กลางคืน แยกบทบาทหน้าที่ ลดความซ้ำซ้อนไฟเขียวขั้นตอนการเยียวยา "แผนลดภาระงบประมาณรัฐ" จ่ายพนักงานเดิม 388 ราย ที่ได้รับผลกระทบ คาดใช้ทุนสะสม "พิงคนคร" 166,796,720 บาท จ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานในหน่วยงานใหม่ หรือไม่ผ่านการคัดเลือกไปเป็น ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานใหม่

วันนี้ (27 พ.ค.2568) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้า ภายหลัง คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เพื่อจัดตั้ง “องค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน)” หรือ อบน. และปรับบทบัญญัติบางประการของ “องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย”

เพื่อแยกบทบาทหน้าที่ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน พร้อมเร่งประเมินรูปแบบองค์กรให้เหมาะสมภายใน 2 ปี ตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอ

ได้แก่ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) หรือตัวย่อ “อบน.” (Night Safari Administrative Organization - NSA) และ 2. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..)

ล่าสุด สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะเลขานุการ กพม. และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เตรียมที่จะประเมินรูปแบบองค์กรและการบริหารจัดองค์การที่เหมาะสมระหว่าง อบน. และ “องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย” ภายในระยะเวลา 2 ปี (2568-2569) ให้มีความรอบครอบและรอบด้านมากขึ้น

เช่น กำหนดให้มีสัดส่วนผู้เกี่ยวข้อง จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ร่วมประเมินรูปแบบองค์กรและการบริหารด้วย

"ให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และครอบคลุมมิติการประเมินที่สําคัญอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการประเมินความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงภาระงบประมาณและผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น"

นอกจากนี้ ยังเตรียมนําผลการศึกษากรณีการโอน "สํานักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" ไปเป็นของ "องค์การสวนสัตว์" มาประกอบการพิจารณากําหนดหลักเกณฑ์การประเมินรูปแบบองค์กรและการบริหารจัดการองค์กรดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการยุบเลิกสํานักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้โดยเร็ว

เตรียมศึกษาขั้นตอนการเยียวยา ให้กับ อบน. ตามขั้นตอนเพื่อให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยา กรณีผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ประสงค์ จะไปปฏิบัติงานในหน่วยงานใหม่ หรือไม่ผ่านการคัดเลือกไปเป็นผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานใหม่

โดยให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของสํานักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่จะโอนไปเป็นของ อบน. ตามร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) พ.ศ..

ขณะเดียวกัน ในการจัดตั้ง อบน. ได้มีการจัดทําแผนทั้งด้านการเงินและด้านบุคลากร เพื่อลดการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ "แผนลดภาระงบประมาณรัฐ" โดยจะขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐในปีที่ 1 - 3 จํานวน 153,580,000 บาท

ประกอบด้วย ค่าสาธารณูปโภค 14,204,900 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาด 49,449,000 บาท ค่าใช้จ่ายโครงการตามภารกิจยุทธศาสตร์และภารกิจพื้นฐาน 19,779,700 บาท และค่าใช้จ่ายในการลงทุน (ครุภัณฑ์และโครงการลงทุน) 70,152,400 บาท

และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คาดว่าจะสามารถสร้างรายรับได้ สูงกว่ารายจ่ายจึงไม่ต้องขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ และมีการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยปรับลดเงินเดือน ของผู้ปฏิบัติงานและเริ่มนับอายุงานใหม่

รวมทั้งยังปรับขนาดองค์กรให้เล็กลงจากเดิมที่มีกรอบอัตรากําลัง 360 อัตรา ปรับเป็น 263 อัตรา

ทั้งนี้ กําหนดให้มีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราเงินเดือนและการเริ่มนับอายุงานใหม่

และการจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานในหน่วยงานใหม่

หรือไม่ผ่านการคัดเลือกไปเป็น ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานใหม่ รวมเป็นเงิน 166,796,720 บาท ซึ่งใช้จ่ายจากเงินทุนสะสมของหน่วยงาน

มีรายงานว่า สำหรับ พระราชกฤษฎีกาแรกว่าด้วยการจัดตั้ง “องค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน)” ซึ่งเป็นการโอนภารกิจเดิมจากสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (สพค.) มาให้ อบน.รับไปดำเนินการ

โดย อบน. จะมีหน้าที่บริหารจัดการสวนสัตว์กลางคืนแบบไนท์ซาฟารี ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน การอนุรักษ์สัตว์ป่า และสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อบน. จะไม่สามารถเปิดไนท์ซาฟารีในจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้กับสวนสัตว์ที่องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยดำเนินการอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนและใช้ทรัพยากรซ้ำซ้อน

โครงสร้างการบริหารของ อบน. จะมีคณะกรรมการบริหารไนท์ซาฟารีที่แต่งตั้งโดย ครม. ประกอบด้วยประธานกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผู้อำนวยการที่มีวาระคราวละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ สพค. จะถูกยุบ และโอนภารกิจ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิและหนี้สิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ไปสังกัด อบน. โดยผู้ไม่ประสงค์ย้าย จะได้รับค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินเยียวยาตามอายุงาน สูงสุดไม่เกินค่าจ้าง 300 วัน พร้อมเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 6 เท่าของเงินเดือน

ชณะที่ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับที่สอง มีสาระสำคัญในการปรับบทบาทขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยยกเลิกการรับโอนทรัพย์สินจาก สพค. เป็นทุน

"และเพิ่มข้อกำหนดให้องค์การสวนสัตว์ฯ ไม่สามารถดำเนินไนท์ซาฟารี "สวนสัตว์กลางคืน" ในพื้นที่ที่ อบน. ดำเนินการอยู่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้ทรัพยากรและงบประมาณ"

สำหรับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นสวนสัตว์เปิดที่ตั้งอยู่ใน ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ และต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นสวนสัตว์ที่เกิดขึ้นตามแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อ 18 พ.ย.2548 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2549 ในระยะเริ่มแรกอยู่ในภายใต้การดูแลขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนแห่งแรกในประเทศไทย และถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดพื้นที่ 819 ไร่ในปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน ทั้งในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2560 คณะรัฐมนตรี มีมติควบรวมเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กับองค์การสวนสัตว์ แต่สุดท้ายยังมีความกังวล จนนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี

และวันที่ 13 มี.ค. 2561 ในการแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เพราะเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฏหมาย และบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีคุณสมบัติต้องห้าม แต่ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง.


กำลังโหลดความคิดเห็น