xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภคฟ้อง กสทช.ต่อศาล ปค. ถอนเกณฑ์ประมูลคลื่นหวั่นผูกขาดเสียรายได้ประโยชน์ หลังเหลือสองราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภคยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง ขอเพิกถอนหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น กสทช. หวั่นเปิดทางผูกขาด - รัฐสูญเสียรายได้ - ผู้บริโภคเสียประโยชน์ หลังตลาดเหลือผู้เล่นหลักเพียงสองราย

ศาลปกครอง วันนี้ ( 27 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้บริโภค นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภคนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษารองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เดินทางมายื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz และประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ลงวันที่ 29 เมษายน 2568 เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz

รวมทั้งให้ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการ กสทช.ดำเนินการแก้ไขประกาศฯทั้งสองฉบับในส่วนของการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีความเหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ในการคิดราคาขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าสัญญาเช่าตลื่นความถี่ในอดีต และต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันประมูลคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม ไม่ให้การผูกขาดคลื่นความถี่ นอกจาก สภาผู้บริโภคยังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้มีการระงับการบังคับตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคดีถึงที่สุด

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า การมายื่นฟ้องขอระงับการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน2100 MHz และ 2300 MHz ในวันนี้ สภาผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาต้องการล้มการประมูลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29มิ.ย.2568นี้ แต่ต้องการให้ กสทช.กลับไปแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยขณะนี้เหลือผู้ประกอบการหลักเพียง 2 รายใหญ่คือ AIS และ TRUE ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก แต่ประกาศของ กสทช. กลับไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาด ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนกระบวนการจัดประมูล แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ ทำให้เห็นว่าการปล่อยให้การประมูลดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้บริโภคในระยะยาว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

สถานการณ์ตลาดปัจจุบันหลังการควบรวมกิจการ ทำให้ TRUE และ AIS ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 97.29% โดยไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถต่อกรได้ อีกทั้งในการประมูลครั้งนี้ยังคาดว่าจะไม่มีผู้เข้าร่วมรายใหม่ โดยเฉพาะเมื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ ไม่พร้อมเข้าร่วมประมูลตามที่เคยประกาศไว้ และไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับการใช้งานคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ขณะเดียวกัน TRUE และ AIS ต่างมีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับคลื่นที่ตนถือสิทธิ์อยู่ ส่งผลให้โอกาสในการแข่งขันแทบไม่มี และเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครองตลาดโดยไร้คู่แข่ง

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติอนุมัติให้ NT เข้าร่วมประมูล และ NT เองก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในการเตรียมตัวเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งที่การประมูลจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้โอกาสของ NT ในการถือครองคลื่นใช้งานในอนาคตริบหรี่ลง ลดโอกาสในการคงอยู่ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ และการกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลไว้อย่างต่ำผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการเช่าคลื่นความถี่ในอดีตทำฝห้รัฐสูญเสียรายได้ ผู้บริโภคเสียประโยชน์ประชาชนทั่วประเทศได้รับผลกระทบไร้ทางเลือกในการใช้บริการคลื่นความถี่ที่เป็นธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น