ครม.เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 และพิธีสาร ค.ศ. 2002 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981
วันนี้ (27 พ.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมิเห็นชอบตามที่ กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
(International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
ค.ศ. 1981 (อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155) และพิธีสาร ค.ศ. 2002 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การ
แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 (พิธีสารฯ)
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำ สัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และพิธีสารฯ
3. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในฐานะผู้เก็บรักษาอนุสัญญา (กำหนดการเดินทางไปมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในระหว่างการประชุมใหญ่ ประจำปี ILO สมัยที่ 113 ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส)
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ซึ่งประเทศไทย (ไทย) มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดำเนินการจัดทำนโยบายแห่งชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และดำเนินการตามขั้นตอน ที่จำเป็น ทั้งปฏิบัติการระดับประเทศ เช่น (1) การพิจารณากำหนดเงื่อนไขในการออกแบบการก่อสร้าง และการวางผังสถานที่ประกอบการ (2) การจัดทำและปฏิบัติตามขั้นตอนในการแจ้งอุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงาน (3) ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้นำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสสารที่ใช้ในการทำงานจะดำเนินการให้เป็นที่พอใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ที่นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ และปฏิบัติการระดับสถานประกอบการ เช่น (1) นายจ้างต้องทำให้มั่นใจว่าสถานที่ทำงาน เครื่องจักร อุปกรณ์และกระบวนการภายใต้การควบคุมของตนมีความปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ (2) คนงานหรือผู้แทนของคนงานในสถานประกอบการต้องได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อให้เกิดผลใช้บังคับตามนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทย มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพิธีสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขั้นตอนการบันทึกและการแจ้งอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดทำสถิติประจำปีด้านอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน
“รง. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากรณีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และพิธีสารฯ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง และ กต. (กรมองค์การระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ไม่ขัดข้อง และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยหาก รง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ ได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ดังกล่าว อนุสัญญาฯและพิธีสารฯ ก็ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ทั้งนี้ รง. ได้ยืนยันแล้วว่า สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ได้ภายใต้กฎหมายภายในของไทย โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯและพิธีสารฯ” นายคารม กล่าว