สภาพัฒน์คาด ศก.ปี 69 โตต่ำ 3.3% หนี้สาธารณะพุ่ง 64.13% เกือบแตะเพดาน จัดงบตาม 5 ยุทธศาสตร์ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้มากสุด 9.42 แสน ล. สภาขอ 1.52 หมื่น ล. ได้ 9.21 พัน ล.ตั้งงบก่อสร้าง-ปรับพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา 41 ล.
วันนี้ (25 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ระหว่างวันที่ 28-31 พฤษภาคม จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วาระแรก วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 2.79 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มีเอกสารที่ใช้สำหรับประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่น่าสนใจ โดยพบว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2568 (ในกรณีฐานที่ไม่รวมผลจากการดำเนินมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกา) ว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนในภาคเกษตร ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2569 สภาพัฒน์คาดว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับหนี้สาธารณะและการก่อหนี้ภาครัฐ โดยหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 มีจำนวน 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.13 ของจีดีพี ประกอบด้วยหนี้ที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล จำนวน 1.13 ล้านล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 5.58 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดไว้ให้กรอบหนี้สาธารณะในประเทศห้ามเกินร้อยละ 70
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่า หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด เป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 งบกลาง ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 6.32 แสนล้านบาท โดยพบว่างบกลางถูกจัดสรรไว้ทั้งสิ้น 12 รายการ ซึ่งรายการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือ 1. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 3.64 แสนล้านบาท 2. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.80 หมื่นล้านบาท 3. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 9.42 หมื่นล้านบาท 4. ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 2.50 หมื่นล้านบาท 5. เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 2.48 หมื่นล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณจำนวน 3.97 แสนล้านบาท อันดับ 3 กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณจำนวน 3.55 แสนล้านบาท อันดับ 4 กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณจำนวน 3.01 แสนล้านบาท และอันดับ 5 ทุนหมุนเวียน จำนวน 2.74 แสนล้านบาท
ส่วนการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ พบว่า 5 อันดับที่ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 9.42 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 12 แผนงาน ซึ่งแผนงานที่ได้รับการจัดสรรงบวงเงินงบประมาณมากที่สุด คือ แผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม จำนวน 3.99 แสนล้านบาท รองลงมาคือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 6.69 แสนล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 6.06 แสนล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 6.05 แสนล้านบาท และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 4.15 แสนล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณในส่วนของรัฐสภา มีการขอไปจำนวน 1.52 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรร 9.21 พันล้านบาท โดยมีการของบเพื่อก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา จำนวน 41 ล้านบาท และยังมีค่าควบคุมงานก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภาอีก 1.67 ล้านบาท