xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รับเหมารอได้เลย! "มหาดไทย" ขีดเส้น 26 พ.ค.จังหวัด-ท้องถิ่น โครงการกระตุ้น ศก.รอบใหม่ 1.5 แสนล. ถึงมือ มท.1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้รับเหมารอได้เลย! "มหาดไทย" รับลูกดัน "แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่" 157,000 ล้านบาท แจ้งจังหวัด-ท้องถิ่น ขีดเส้นเสนอโครงการ 26 พ.ค.นี้ ผ่านระบบ New e-Budgeting ก่อนชง มท.1 ให้ความเห็นชอบ ย้ำจังหวัด-ท้องถิ่น ซักซ้อมข้อเสนอโครงการ-คําของบประมาณ ตามหลักเกณฑ์ฯ และแนวทางการปฏิบัติฯ ต้องมีความพร้อมดําเนินการได้ทันที เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณ ทั้งระเบียบ กฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี

วันนี้ (22 พ.ค. 2568) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้า ภายหลังคณะรัฐมนตรี ได้มีมติ 20 พ.ค. เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท

และมอบหมายหน่วยรับงบประมาณจัดทําโครงการและคำของบประมาณเพื่อดําเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าว ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ล่าสุด นายอรรษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๒๑๑.๖/๒๔๕๓๔ ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแจ้งผ่านไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่ม ทั่วประเทศ

"ให้เตรียมการเสนอโครงการและคําของบประมาณเพื่อดําเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท"

ให้จังหวัดจัดทําข้อเสนอโครงการและคําของบประมาณ ตามหลักเกณฑ์ การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ และแนวทางการปฏิบัติในการจัดทํา ข้อเสนอโครงการ ดังนี้

1. หลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 157,000 ล้านบาท

1.1 เป็นการลงทุนหรือการใช้จ่ายที่สามารถกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ

1.2 เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อการสร้างโอกาส ในการประกอบอาชีพของประชาชน หรือภาคธุรกิจ หรือเพื่อการวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ซึ่งมีความพร้อม สามารถผูกพันและดําเนินการแล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กําหนด ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบกับการดําเนินภารกิจปกติของหน่วยงาน ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

1.3 การจัดซื้อจัดจ้างให้ดําเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและ การบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด โดยไม่เป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง/ ไม่เป็นการแบ่งย่อยโครงการใหญ่ออกเป็นโครงการขนาดเล็กจํานวนมาก

1.4 กรณีเป็นการก่อสร้าง ต้องมีความพร้อมทั้งแบบรูปรายการและพื้นที่ดําเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.5 ควรให้ความสําคัญกับการดําเนินการที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่าง มีประสิทธิภาพ โดยคํานึงถึงการดําเนินการในจังหวัด/พื้นที่ รวมถึงความต้องการของภาคเอกชน

1.6 กรณีเป็นโครงการที่มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ ควรต้องคํานึงถึงการกระจายของพื้นที่ทําเนินการด้วย

1.7 ควรเป็นการดําาเนินการที่หน่วยงานรับผิดชอบมีความพร้อมในการบริหารจัดการ ต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

1.8 มีความคุ้มค่าในการดําเนินการ (Value for Money)

2. ข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เบื้องต้น) แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

2.1 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย

1) ด้านน้ำ อาทิ ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้สําหรับฤดูแล้ง กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ พัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา

2) ด้านคมนาคม อาทิ แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและ ขาดความเชื่อมโยง เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง

แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนน เสมอระดับ ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุก

เพื่อให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติขนส่งทางบกฯ ปรับปรุง/ พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่การผลิต

2.2 ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอํานวยความสะดวก

อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ ป้ายบอกทาง พัฒนาระบบอํานวยความสะดวก ให้แก่นักท่องเที่ยว พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสําคัญ

2.3 ด้านการลดผลกระทบการส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ประกอบด้วย

1) ด้านการเกษตร อาทิ การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร การสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม

2) ด้านการลดผลกระทบแรงงาน อาทิ สนับสนุนมาตรการการเงินการคลัง สนับสนุน สินเชื่อ (เฉพาะผู้ส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน กองทุนประกันสังคม

3) ด้านดิจิทัล อาทิ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการค้าระหว่างประเทศ

2.4 ด้านเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน (SML) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และอื่น ๆ และโครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ เป็นต้น

3. แนวทางการปฏิบัติในการจัดหาข้อเสนอโครงการ

3.1 ต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 157,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมการจ้างงานและผู้รับจ้างในพื้นที่

3.2 ต้องเป็นโครงการที่สามารถดําเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จได้ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หรือสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

และดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี (30 กันยายน 2569)

3.3 ต้องมีความพร้อมดําเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในกรณีที่ระเบียบ กฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี

กําหนดให้ต้องได้รับอนุมัติ อนุญาตก่อนดําเนินการ หน่วยงานจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการเสนอโครงการ และในกรณีที่เป็นโครงการก่อสร้างจะต้องมีความพร้อมของพื้นที่ดำเนินงาน

รวมทั้งมีแบบรูปรายการ และรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่ายที่สามารถพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย

3.4 ต้องเป็นโครงการที่ดําเนินการโดยหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบโดยตรงและมีความพร้อมสําหรับการบริหารจัดการและบํารุงรักษาในระยะต่อไป

3.5 ต้องจัดทําข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มและบันทึกข้อมูลในระบบ New e-Budgeting ที่สํานักงบประมาณกําหนด

พร้อมทั้งแนบรายละเอียดของโครงการในรูปแบบไฟล์ PDF, Excel และหนังสือที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบเป็นไฟล์ PDF

โดยขอให้จังหวัดจัดทําข้อเสนอโครงการและบันทึกข้อมูลตามแนวทางที่สํานักงบประมาณกําหนด

"รวมทั้งจัดทําแบบสรุปข้อเสนอโครงการ และข้อเสนอโครงการจากระบบ New e-Budgeting พร้อมรายละเอียด ของโครงการ ส่งภายใน วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคมนี้"

ซึ่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการแล้ว กระทรวงมหาดไทย จะจัดส่งข้อมูลให้จังหวัดนําไปอัพโหลดในระบบ New e-Budgeting ต่อไป

ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดประสาน สถ.จังหวัด เพื่อแจ้งและรวบรวมข้อเสนอโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดส่งให้ สถ.ด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น