ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้ ให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวจีทูจี ชี้ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ตรวจสอบทุจริตฯ เเต่สั่งกันทรัพย์สินร่วมกันให้"อนุสรณ์"อดีตสามี
วันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 13.30 น.ศาลปกครองสูงสุด นัดออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,717,273,028 บาท ในคดีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้องมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว เท่ากับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว เนื่องจากกระทรวงการคลังยอมรับว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านางสาวยิ่งลักษณ์เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง และขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย
ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในส่วนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)จำนวน 10,028,861,880.83บาท
ศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแยกพฤติการณ์การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์
ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (ประธาน กขช.) ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การดำเนินการในส่วนของนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งไม่มีส่วนที่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง)
ส่วนที่สอง การดำเนินการในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครองแยกออกจากการดำเนินการในส่วนนโยบาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา4 พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรัง ปีการผลิต 2555 นาปี ปีการผลิต 2555/56 และนาปี ปีการผลิต 2556/57 โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2. การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก 3. การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร และ 4. การระบายข้าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 11วรรคหนึ่ง (1 ) แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ และยังเป็นประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสินค้าข้าว การที่สตง. และ ปปช.มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์สอดคล้องกัน
ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้นก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อไปด้วย แต่น.ส
ยิ่งลักษณ์ มิได้ดำเนินการใดๆ ทั้งที่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว และมิได้ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลการดำเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่ได้รับรายงานหรือไม่
นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 ส.ส.ได้มีการตั้งกระทู้ถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2558 และมีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะเมื่อวันที่ 26พ.ย. 2555 เรื่อง ปัญหาโครงการรับจำนำเกี่ยวกับกรณีเกษตรกรถูกโกงความชื้น
การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นประธาน กขช. ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลว่า มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน แต่มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกดำเนินการตรวจสอบว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่ และรายงานให้สั่งการต่อไป จึงเป็นกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่กลับปล่อยให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ยังคงดำเนินการต่อไป จึงเป็นกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปล่อยปละละเลยไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริตได้โดยง่าย อันถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อกระทรวงการคลัง ให้ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420แห่ง ป.แพ่งและพาณิชย์
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมกระทรวงการคลังเพียงใดเห็นว่า ความเสียหายเฉพาะในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบปัญหาการทุจริตแล้ว แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแล โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตตามสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช. แค่เพียงครั้งเดียว จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช. ซึ่งมีหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบเพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย โดยวิสัยของน.ส.ยิ่งลักษณ์ย่อมเล็งเห็นได้ว่า ควรที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏตามหนังสือทักท้วงของหน่วยตรวจสอบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ หรือติดตามดูแลการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐอย่างใส่ใจ
แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับเพิกเฉยหรือละเลย จนเกิดการทุจริตขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทันต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย อีกทั้งไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ การดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พฤติการณ์ ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้กระทรวงการคลัง ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐเกิดจากการแอบอ้างทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย จำนวน 4 ฉบับ มีความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761 บาท เมื่อได้รับทราบปัญหาการทุจริตกลับไม่ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เกี่ยวกับปัญหาที่หน่วยตรวจสอบแจ้งให้ทราบ เพียงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการต่อไป แล้วรอรายงานจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เมื่อได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีการทุจริตก็เชื่อรายงานดังกล่าว ทั้งที่แตกต่างจากผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายคน และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช.มีอำนาจตามกฎหมายในการระงับยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แต่มิได้ดำเนินการอันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามมาตรา 8 วรรคสี่ แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ คิดเป็นเงินที่ผู้ต้องรับผิด 10,028,861,880 บาท ดังนั้น คำสั่งกระทรวงการคลังเฉพาะส่วนที่เรียกให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การยึด อายัดทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880 บาท อันเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
และเมื่อเป็นทรัพย์สินที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มาภายหลังจากการที่อยู่กินฉันสามีภริยากับนายอนุสรณ์ อมรฉัตร โดยมีเจตนาเปิดเผยตั้งแต่เดือน พ.ย.2538 อีกทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองยังได้มีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่อาศัยร่วมกันตลอดมาและมีเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีส่วนในทรัพย์สินเท่ากันตามมาตรา 1357 แห่ง ป.แพ่งและพาณิชย์ แม้จะไม่ปรากฏชื่อนายอนุสรณ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม ดังนั้นนายอนุสรณ์ จึงเป็นผู้มีสิทธิขอกันส่วน ในทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6
การที่กระทรวงการคลังโดยปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิเสธการขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อนายอนุสรณ์
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็น
1.ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880 บาท ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
2.ให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของกรมบังคับคดีอธิบดีกรมบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 6 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7-9 ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใด ๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการทางปกครอง ตามมาตรา 57 แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880 บาท ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
3.ให้ปลัดกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลัง ดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดตามสิทธิของนายอนุสรณ์จำนวน 37 รายการ และแจ้งให้กรมบังคับคดีจัดทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อกันส่วนให้นายอนุสรณ์ ในฐานะเจ้าของรวม รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้นายอนุสรณ์ทราบ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา