“นันทนา” โวยวุฒิสภาลักไก่ยัดวาระตั้ง 7 ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ สอดไส้สมัยประชุมวิสามัญฯ ถกงบฯ 69 ชี้เป็นหายนะของประเทศ เปรียบตั้งผู้พิพากษาเข้าไปดูแลคดีตัวเอง ยอมรับงานยากยื่น สว.สีน้ำเงิน หยุดปฏิบัติหน้าที่เหตุล่าชื่อได้แค่หลัก 10 ยินดีให้ล้มกระดาน แต่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา สว.ก่อน เผย “เทวฤทธิ์” จ่อทำหนังสือถึงประธานวุฒิฯ ให้ชะลอลงมติเลือก ป.ป.ช. 30 พ.ค.นี้ “ทนายอั๋น” วอน “สว.สีขาว-อิสระ” ร่วมลงชื่อด้วยหลังโทร.ไปไม่ยอมรับสาย
วันนี้ (21 พ.ค.) น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงว่า ความคืบหน้าในการเข้าชื่อ สว.เพื่อขอให้สมาชิกหยุดปฏิบัติหน้าที่การแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ ว่า จากที่ทีมกฎหมายได้พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว พบว่า การจะขอให้ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง จึงต้องยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ประกอบกับมาตรา 113 และ 114 เพื่อถอดถอน สว. ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด และร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีพฤติกรรมตามที่ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดหรือเป็นบางส่วนเฉพาะเรื่องการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะส่วนกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
น.ส.นันทนา กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดเนื่องจากวุฒิสภา มีการบรรจุวาระการประชุมสมัยวิสามัญวันที 30 พ.ค.โดยมีวาระให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3 ตำแหน่ง อัยการสูงสุด 1 ตำแหน่ง และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ตำแหน่ง และ กกต.อีก 1 ตำแหน่ง ถือเป็นการกระทำที่ผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากวุฒิสภาได้บรรจุระเบียบดังกล่าวเข้ามาในสมัยประชุมวิสามัญซึ่งเปิดเพียง 3 วัน ทั้งที่เปิดมาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปีงบประมาณ 2569 ดังนั้น ถือเป็นการลักไก่เร่งด่วนอย่างผิดปกติ การกระทำเช่นนี้ทำเพื่ออะไร
น.ส.นันทนา กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วไปทราบว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นหายนะของประเทศ หากมีการปล่อยให้มีการแต่งตั้งองค์กรอิสระอย่างเร่งด่วนเช่นนี้ เป็นเรื่องการขัดขัดแย้งผลประโยชน์อย่างรุนแรง เพราะ สว.เสียงข้างมาก กำลังตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ว่า เข้าสู่ตำแหน่งโดยมิชอบ และได้ทำการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และดีเอสไอ ซึ่งหากปล่อยให้มีการแต่งตั้ง กกต.เข้าไปก็จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ต่างตอบแทน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้วินิจฉัย การกระทำนี้ จะไม่เท่ากับตั้งผู้พิพากษามาพิจารณาตัวเองหรือ
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า รวมถึงหากในอนาคตมีการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ในขณะที่การตรวจสอบ สว.เสียงข้างมาก ยังไม่ชัดเจน ถ้ามีการดำเนินคดีไปถึงที่สุด หรือศาลมีคำพิพากษาให้ สว.ที่เป็นเสียงข้างมากนั้น มีความผิด จะทำให้ผลแห่งการลงมติของผู้ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ กลายเป็นมรดกบาป ที่ สว.ได้ทิ้งไว้ให้กับประเทศชาติหรือไม่ ซึ่งก็จะผลต่อสถานะขององค์กรอิสระเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากองค์กรอิสระเป็นองค์กรภายใต้กำกับพรรคการเมือง หรือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะบิดเบี้ยวไปอย่างไร จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางเที่ยงธรรมหรือไม่
น.ส.นันทนา ระบุว่า แม้กระบวนการนี้จะยากลำบาก แต่ขณะนี้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวาง และรู้ว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว.ส่วนใหญ่มิชอบ แต่สังคมก็เอาใจช่วยในการผลักดันกระบวนการไม่ให้ สว. ได้ลงมติ ซึ่งในภาคส่วนอื่นๆ ก็ยังมี นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้ร้องกับ กกต.ไปแล้ว มี นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายในวันศุกร์ที่ 24 พ.ค.นี้ และ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ก็จะยื่นญัตติชะลอการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 พ.ค.นี้ โดยการทำเป็นหนังสือ ซึ่งต้องรอการบรรจุระเบียบวาระ แม้ทุกมติของเรา จะไม่เคยผ่านเลย แต่ก็เป็นช่องทางที่เราจะต้องทำ ตลอดจนภาคประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องติดตามต่อไป ว่ากระบวนการไหนจะสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายได้ก่อน
น.ส.นันทนา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สาเหตุจริงๆ ของเรื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้การเลือก สว.เป็นการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ และเกิดช่องโหว่ ช่องว่าง จนกระทั่งมีการฮั้วกันเข้ามาแบบมโหฬารเช่นนี้ โดยการดำเนินการในส่วนนี้ ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสิ่งที่เราต้องเริ่มคิดดำเนินการต่อไป คือการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหา ทำให้เกิดวิปริตในการได้มาซึ่ง สว.
เมื่อถามว่า สรุปตอนนี้รายชื่อ สว. มีไม่ถึง 20 คน ใช่หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าว ยัง เพิ่งเริ่ม เราเพิ่งร่างคำร้อง เราใช้เวลาดำเนินการ รัฐธรรมนูญร่างมาแล้ว ไม่มีข้อกฎหมายตามทันเรื่องนี้ ถ้ามีการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พบว่า มีพฤติกรรมมันไม่ชอบจำนวนมาก กฎหมายตามไม่ทัน กลายเป็นว่าเราต้องพลิกตำรากฎหมาย จึงต้องใช้เวลา ดังนั้น วันนี้จึงเริ่มกระบวนการในการล่ารายชื่อ ซึ่งคือเป็นกระบวนการที่ตรงและเร็วที่สุด ซึ่งยอมรับว่า ไม่ใช่เส้นทางที่ราบรื่น เพราะหากรวบรวมรายชื่อได้ 20 คนแล้ว จะต้องยื่นต่อประธานวุฒิสภาซึ่งเป็นหนึ่งใน 55 คนที่ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปยื่นกับใคร เพราะในธรรมนูญระบุไว้ว่า ต้องไปยื่นกับประธานวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่ต้องลุ้นกันตลอดทาง
น.ส.นันทนา กล่าวอีกว่า ประเด็นหลักๆ ที่ยื่นนั้น มีเรื่องมาตรา 82 การเข้าชื่อกันของสมาชิกแห่งสภานั้นๆ จำนวน 1 ใน 10 เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาว่าสมาชิกภาพของผู้ที่ถูกร้องนั้นสิ้นสุดลง หลังจากนั้นจะขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้อกล่าวหาที่จะให้สมาชิกสภาพสิ้นสุดลง ใช้มาตรา 113 และมาตรา 114 คือการตกอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ของอำนาจกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดและข้อมูลก็ออกมาสู่สาธารณะชนอย่างกว้างขวางแล้ว
ส่วนจะเป็นการถอนรากถอนโคน ไม่ใช่แค่ชะลอไม่โหวตเลือกองค์กรอิสระใช่หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า เราพยายามหาข้อกฎหมายมารองรับให้การร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ต้องถอดถอน แต่สุดท้ายแล้ว ไม่มีกฎหมายใดมารองรับ ซึ่งตนเองเรียกร้องให้ สว.ทั้งหมด ใช้จิตสำนึกหยุดปฏิบัติหน้าที่เอง โดยไม่ต้องใช้กฎหมายมาบังคับ พร้อมยอมรับว่า กังวลว่าการดำเนินการนี้จะช้า จึงเร่งมาก ในเวลาที่เหลือ 9 วันนี้
เมื่อถามถึงกรณี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ยื่นเรื่องร้อง กกต. ให้ยุติการสอบสวนกรณีการฮั้ว สว. นั้น น.ส.นันทนา กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิดำเนินการปกป้องตัวเอง แต่โดยกระบวนการยุติธรรมสามารถทำได้หรือไม่ และสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ที่กำลังตรวจสอบตนเองได้หรือไม่ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไป ส่วนมองว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่นั้น อาจเป็นเพราะผู้ถูกร้องมีสถานะที่ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ก็ขึ้นอยู่ว่าจะมองอย่างไร
เมื่อถามว่า เป็นการฟอกขาว กกต. และ สว. หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า เราเรียกร้องมาตลอดว่า องค์กรอิสระต้องโปร่งใส จากรัฐบาล การเมือง และต้องมีการตรวจสอบอย่างที่ทำตรงไปตรงมา ดังนั้น จึงต้องช่วยกันจับตา ไม่ปล่อยให้มีการลงมติผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดย สว. ที่มีที่มาไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามถ้ากระบวนการยุติธรรมเดินไปจนสุดทางแล้ว บริสุทธิ์ ยุติธรรมจริงๆ กลุ่ม สว.เสียงส่วนใหญ่นี้พ้นหน้าที่ไป ก็ยังมี สว.สำรอง ที่พร้อมจะเลื่อนรายชื่อขึ้นมา เป็นองค์ประชุมได้
เมื่อถามว่า จะไปถึงการล้มทั้งกระดานหรือไม่ น.ส. นันทนา ถามกลับว่า ด้วยเหตุผลอะไร ถ้าจะล้มทั้งกระดาน เพราะคนอื่นๆ ที่เข้ามาแบบปกติก็มี ที่ไม่ได้อยู่ในข้อกล่าวหาว่าฮั้วกัน แต่ถ้าถึงที่สุด จะต้องล้มกระดานกันด้วยเหตุผลว่า เกี่ยวพันกันไปกันมา ก็ยินดี แต่ขอให้แก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ สว.ก่อน หากยังไม่แก้ครั้งหน้าจะฮั้วแบบไม่มีหลักฐาน หรือร่องรอยทิ้งไว้เลย ก็จะยิ่งแย่กว่าเดิม
ด้าน นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า เราทราบกันดีว่าจำนวน สว. สีน้ำเงิน ที่มีปัญหาอยู่ในกระบวนการมีเพียง 138 คน นั่นหมายความว่า มีมากกว่า สว. สายอิสระ แต่วันนี้จำนวน สว. เพียงแค่ 20 คน ที่จะทำการล่ารายชื่อดูเหมือนว่าโทร.ไปไม่รับสายบ้าง จึงตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น พี่น้องประชาชน รวมถึงตนเองอยากเห็นซูเปอร์ฮีโร่เกิดขึ้นในวุฒิสภา ท่ามกลางการศรัทธาความเชื่อมั่นขององค์กรวุฒิสภาเช่นนี้ เรื่องนี้พฤติการณ์ของกลุ่ม สว. ที่ได้มาโดยมิชอบ ไม่สุจริตเที่ยงธรรม จนกระทั่งนำไปสู่การถูกดำเนินคดี และถูกเรียกไปรายงานตัว เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่ ตนเองหวังว่าเสียงสะท้อนของตนวันนี้จะไปถึง สว. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าอิสระ หรือสายสีขาวทั้งหลาย ให้ร่วมกันมาลงชื่อร่วมกับ น.ส.นันทนา เพราะคือทางที่ใกล้ที่สุด แค่ 20 คนไม่เกินไป หากมองในแง่ร้ายที่สุดสมมติไม่มีใครมาเข้าชื่อ กระบวนการไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญมันยากเย็นนักหรืออย่างไร ตนเองจึงจะไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง แต่ก็ไม่หวังอยากไปจุดนั้น
“ผมอยากเห็น สว. แสดงความกล้าหาญ ส่วนใครที่กลัวว่า สว. สีน้ำเงินจะเอาคืนในเงื่อนไขในเรื่องของการตั้งกรรมการมาสอบเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของใครก็แล้วแต่ที่มาร่วมลงชื่อนั้น หมายถึงว่า พวกคุณกลัว ท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่เลวร้าย หากพวกคุณไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง สว. ประชาชนตาดำ ๆ ที่สู้กับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่มันทดถอย เขายังสู้ได้ พวกคุณมีต้นทุนเยอะแยะ และตนเองให้คำมั่นวันนี้ว่าหากใครถูก สว. สีน้ำเงินเอาคืน ตนเองและประชาชนพร้อมปกป้อง” นายภัทรพงศ์ กล่าว