xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนแจกเงินหมื่น สัญญาณศก.พัง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดโครงการ “แจกเงินหมื่นดิจิทัล” หรือที่ก่อนหน้านี้มีชื่อเรียกหรูหราว่า “ดิจิทัล วอลเล็ต” ก็ต้องยกเลิกอย่างเป็นทางการแล้ว เพียงแต่กล่าวแก้เกี้ยวว่า “เลื่อนออกไป (ไม่มีกำหนด) ก่อน” โดยอ้างว่าหากสถานการณ์เหมาะสมเมื่อไหร่ ก็มาพิจารณากันใหม่ เนื่องจากตอนนี้จำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวมาดำเนินการในโครงการอื่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไปก่อน

จากการแถลงของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังการประชุมคณะกรรมการการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 ที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.การคลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ย้ำว่า เราต้องทบทวนงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท โดยจะพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องที่เราเห็นแบบชัดเจนก่อน โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย อยากเห็นการทบทวนโครงการดิจิทัลฯ วันนี้จึงมีการประชุมเพื่อดูว่าจะทบทวนอย่างไร ซึ่งเรานำงบดังกล่าวไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระบบคมนาคม รถไฟความเร็งสูง รถไฟรางคู่ ถนนต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวว่าอะไรที่เป็นปัญหา ซึ่งสิ่งต่างๆ อยู่ในแผน แต่อะไรเร่งด่วนจะหยิบขึ้นมาดูเลย รวมถึงปัญหาเฉพาะหน้าของเอสเอ็มอี ทบทวนโครงการที่จะสามารถสร้างงานได้ทั้งหมด โดยจะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การจ้างงาน โดยวันนี้ที่ประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจอนุมัติเป็นกรอบไว้ โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการแผนงาน รวมถึงมีคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณด้วย

เมื่อถามว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เร่งด่วนหรือไม่ นายพิชัย กล่าวย้ำว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเราขอชะลอไปก่อน จนกว่าสถานการณ์เหมาะสม โดยย้ำว่า งบมีอยู่แล้ว แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนมีข้อจำกัดมากขึ้น จึงต้องปรับแผนการใช้เงิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับไม่มีเงิน

“ไม่เรียกว่าซื้อเวลาดีกว่า ถ้าสถานการณ์ดี เราก็หยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่วันนี้เราอยากให้เกิดการจ้างงานก่อน เราจึงดูตามเหตุการณ์ที่เหมาะสม” เขากล่าว เมื่อถูกถามว่าเป็นการยื้อเวลาหรือไม่

ขณะที่โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีภาวะผันผวน เนื่องจากมีการประกาศนโยบายจัดเก็บภาษีของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น ต่อไปนี้เราจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวให้มากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาจึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้เพื่อร่วมกันคิดและเสนอแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

หากพิจารณาการทบทวนหรือเลื่อนการ “แจกเงินหมื่น” หรือ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ออกไปแบบไม่มีกำหนดแบบนี้ ความหมายก็คือ “ยกเลิก” นั่นเอง เอาเป็นว่า บรรดาวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่18-20 ปี ที่กำลังรอแจกในเฟสที่สาม นั้นบอกได้เลยว่า “เลิกหวัง” เลิกรอได้เลย เพราะรัฐบาลไม่มีเงินในกระเป๋าแล้ว เพราะหากมีเงินก็ต้องรีบแจกมาตั้งแต่แรกแล้ว คงไม่รอให้ทอดเวลาเรื่อยเปื่อยแบบนี้แน่นอน

ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการที่ถูกคัดค้านรอบทิศว่ามัน “ไม่ได้เรื่อง” ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “พายุหมุน” สามสี่รอบตามที่คุยโม้เอาไว้ก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมาแจกไปสองรอบทั้ง “กลุ่มเปราะบาง “ คนจน คนพิการ มาจนถึงแจกคนสูงอายุ ปรากฏว่า ผลที่ออกมา “เงียบฉี่” แทบไม่มีความรู้สึกทางเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย ไม่ต่างจาก “หยดน้ำในทะเล” ไม่มีความหมาย แต่อีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นการสร้างหนี้แบบมักง่ายให้ชาวบ้านทั่วประเทศต้องแบกภาระ

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งที่ยังแจกไม่ครบ และไม่มีแจกนั้น ส่วนสำคัญนอกเหนือจากไม่มีงบประมาณแล้ว ยังกลัวว่าตัวเองต้องติดคุก เนื่องจากเกรงจะมีปัญหาในเรื่องผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์บังคับเอาไว้อย่างเข้มงวด ทำให้ไม่กล้า เพราะได้เห็นบทเรียนมาแล้ว แต่ในที่สุดเมื่อซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจภายนอก ที่ต้องเจอแน่ๆ คือ “สงครามภาษี” จากสหรัฐ ที่แม้ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร ไทยจะต้องโดนภาษีขั้นพื้นฐานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันที่ยังต้องลุ้นมากไปกว่านั้นก็คือ ไทยยังไม่มีคิวนัดคุยกับฝ่ายสหรัฐ เพื่อเข้าไปเจรจาในเรื่องดังกล่าวในกำหนด 90 วันเลย ทำให้คาดเดาไม่ถูกว่าเราจะต้องเจอกับมาตรการทางการค้าอะไรบ้าง

จากเรื่องความกังวลการค้ากับสหรัฐดังกล่าว ทำให้ภาคเอกชน และคนทั่วไปเกิดความกังวลรัฐบาลไทย โดยเฉพาะตัวผู้นำคือ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะมีวิธีรับมือได้แค่ไหน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอมีปัญหาสงสัยในเรื่องวุฒิภาวะ ความรู้ความสามารถ จะรับมือกับภาวะวิกฤตได้หรือไม่

ล่าสุด หลายหน่วยงานต่างออกมาแสดงความกังวลว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะย่ำแย่ โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวน่าจะโตไม่ถึงร้อยละ 2 อย่างแน่นอน และเมื่อพิจารณาจากการการคาดการณ์แนวโน้มของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ที่เผยปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร

และยังคาดประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2568 ขยายตัวแค่1.8% จากเดิมที่คาดเอาไว้เกินร้อยละ 2 และยังมองว่า เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหามากตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้สหรัฐฯ จะเริ่มมีข้อตกลงทางการค้าออกมา โดยเฉพาะกับจีน แต่การบรรลุข้อตกลงกับไทยยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ในขณะที่แรงส่งจากท่องเที่ยวในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ไว้ที่1.4% ซึ่งถือว่าประเมินต่ำลงไปอีก

ดังนั้น เมื่อประเมินแบบเชื่อมโยงกันทั้งเรื่องการ “ทบทวน” หรือยกเลิกแจกเงินหมื่นดิจิทัล ก็ทำให้เข้าใจได้ว่ารัฐ “ถังแตก” ทั้งกลัวความผิด เนื่องจากเรื่องผิดวินัยการเงินการคลัง ประกอบกับการคาดการณ์ของ “สภาพัฒน์” ที่มองเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะย่ำแย่ มองว่าในปีนี้จะโตได้แค่ร้อยละ 1.8 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองต่ำลงไปอีกว่าโตเพียงร้อยละ1.4 หนักกว่าเสียอีก โดยพวกเขามองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มมีปัญหามากตั้งแต่ไตรมาสสามเป็นต้นไป แม้ไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายเกินไปแต่ทุกอย่างก็เห็นสัญญาณชัดเจนแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น