“สุเมธ” อดีต รษก. ลอยลำผ่าน 2 ด่านแรกสรรหา “ผู้ว่าฯ กนอ.” รอคุย สคร. ตกลงค่าตอบแทน ก่อนชง ครม. ไฟเขียว เผยโปรไฟล์ขั้นเทพ ดีกรี 2 ดร. วิศวะ-การเมือง กูรูนวัตกรรม-A.I.-สิ่งแวดล้อม “อดีตผู้ว่าฯ” ไม่เกี่ยง “คนนอก” คุมการนิคมฯ ขอแค่มีศักยภาพ-รู้รอบ-ครบเครื่อง ส่วนปม “ลูกหม้อ” โตไม่ทัน-ตกสเปก ต้องแก้ภายใน
ตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. - 28 เม.ย. 2568 ปรากฏว่ามีผู้ยื่นสมัครเข้ารับการคัดเลือก 5 รายที่ผ่านเข้าสู่รอบสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ด้วยวาจาต่อคณะกรรมการสรรหาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 ซึ่งหลังเสร็จสิ้น คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ลงมติเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดและมีความเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กนอ. ที่มีกำหนดประชุมในวันถัดมา (20 พ.ค. 2568)
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมบอร์ด กนอ. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2568 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอมา โดยจะดำเนินการนำเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาและต่อรองผลตอบแทนผู้ที่ผ่านความเห็นชอบ เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพื่อรอให้กระบวนการต่างๆ เสร็จสิ้นไปจนถึงมีมติ ครม. เห็นชอบแต่งตั้งเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ผู้สมัครที่ทั้งคณะกรรมการสรรหาฯ และบอร์ด กนอ. มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ ได้แก่ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ อดีตกรรมการ กนอ. และอดีตรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ซึ่งเป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดในรอบแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ อีกทั้ง นายสุเมธ ยังถูกจับตามองว่าเป็นตัวเต็งของการสรรหาครั้งนี้ตั้งแต่ต้น ด้วยประวัติและประสบการณ์ด้านการศึกษาและการทำงานที่มีความโดดเด่น ทั้งยังเป็นแคนดิเดตเพียงรายเดียวที่เคยผ่านการทำงานในฐานะคนใน กนอ. มาก่อน
สำหรับ นายสุเมธ เกิดเมื่อเดือน พ.ค.2520 ปัจจุบันอายุ 48 ปี ระบุข้อมูลส่วนตัวว่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 2 สาขา คือ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาปรัชญาการเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีประสบการณ์เป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนหลายแห่งรวมมูลค่าหลายพันล้านบาท และได้รับการทาบทามเพื่อเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในหลายหน่วยงานสำคัญ อาทิ คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT), องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นต้น
และล่าสุด นายสุเมธ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพิจารณาทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น (IF) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการปราบปรามอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ และการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ตามนโยบาย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ด้วย
ทั้งนี้ นายสุเมธ ได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ด กนอ. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 ก่อนที่บอร์ดจะมีมติให้ นายสุเมธ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. หลัง นายวีริศ อัมระปาล ลาออกจากตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. ก่อนครบวาระ เมื่อเดือน ก.ย. 2567 เพื่อไปรับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทั่ง นายสุเมธ ได้ลาออกจากตำแหน่งบอร์ด กนอ. และพ้นการปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เมื่อเดือน เม.ย. 2568 เพื่อลงสมัครรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ในครั้งนี้
มีรายงานด้วยว่า นอกเหนือจากงานด้านการบริหารบุคคล และองค์กรแล้ว นายสุเมธ ยังมีความสนใจและเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม AI รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นอาจารย์ และวิทยากรพิเศษ ให้แก่สถาบันในระดับอุดมศึกษามาตั้งแต่ปี 2554
ด้าน นางอัญชลี ชวนิตย์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. และนายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีบุคคลคุณภาพอาสามาทำงานขับเคลื่อน กนอ. ผู้สมัครทั้ง 5 ท่านล้วนมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าใครได้รับเลือกก็สามารถทำงานได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีในยุคที่มีการแข่งขันสูง เทคโนโลยีพัฒนาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กนอ. จึงต้องการผู้นำที่มีความมืออาชีพ รู้รอบด้าน ความสามารถหลากหลาย เข้าใจในทุกศาสตร์ทุกมิติ และพร้อมเปิดรับการเรียนรู้อยู่ตลอด และยังต้องมีคอนเนกชันกว้างขวาง ตามภารกิจ กนอ. ที่เป็นงานหลายหน้า และต้องประสานหลายหน่วยงาน/องค์กรในแต่ละภารกิจ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความท้าทายในการรับมือผลกระทบจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจในเวทีโลก พร้อมยกระดับความเชื่อมั่นต่อ กนอ. และภาคการผลิตของไทยให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล บริหารจัดการตามวาระเป้าหมาย SDGs Goal ที่เป็นกรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) ตลอดจนการติดตาม และเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนกรณีที่ไม่มีผู้บริหารระดับสูงของ กนอ. สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ กนอ. ครั้งนี้นั้น นางอัญชลีกล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะคนของ กนอ. เข้าใจในข้อห่วงใย แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ตลอด 52 ปีที่ผ่านมา กนอ. ก็มีผู้ว่าการทั้งคนนอกและคนใน สัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง และนำพาองค์กรเติบโตมาถึงปัจจุบันได้ จึงย้ำมาตลอดว่า ไม่เกี่ยงว่า ผู้นำองค์กรจะมาจากไหน เป็นคนจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ เพราะไม่สำคัญเท่ากับคนๆนั้นมีศักยภาพ ความตั้งใจ ความรู้ความสามารถ ความโปร่งใสธรรมาภิบาล รวมถึงต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ ปัจจัย ผลกระทบ และปัญหาที่องค์กรกำลังเผชิญ หรือจะต้องเผชิญเพื่อเตรียมการรับมือด้วย
ขณะที่การสนับสนุนผลักดันคนใน หรือลูกหม้อให้ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรนั้น ต้องมาดูปัญหาโครงสร้างภายใน กนอ. เอง ที่ช่วงของการก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งในแต่ละระดับไม่สอดรับกัน ทำให้หลายครั้งเกิดช่องว่างระหว่างรุ่นที่ต้องส่งต่อหน้าที่ความรับผิดชอบกัน กระทั่งทำให้ผู้บริหารระดับสูงของ กนอ. เอง คุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการอย่างในครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องชื่นชมสปิริตของบุคลากร กนอ. ที่แม้จะไม่มีตัวแทนลงสนาม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมตีรวน ทำให้องค์กรเสียหายแต่อย่างใด ที่สำคัญยังร่วมมือทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเต็มที่
“ถ้าจำกันได้ตอนที่ ผู้ว่าฯวีริศ (อัมระปาล) ลาออกไป บอร์ด (กนอ.) ก็มีมติให้ ดร.สุเมธ (ตั้งประเสริฐ) ที่เป็นบอร์ด และเป็นคนนอกเช่นเดียวกับ ผู้ว่าฯวีริศ มาทำหน้าที่แทน ซึ่ง ดร.สุเมธก็ให้นโยบายสานต่องานที่ ผู้ว่าฯวีริศ ริเริ่มไว้ อย่างกรณี ลดขั้นตอนการขออนุมัติตั้งนิคมอุตสาหกรรม จาก 9 ขั้นตอน เหลือ 8 ขั้นตอน ก็เป็นประโยชน์ต่อทั้ง กนอ. และผู้ประกอบการอย่างมาก ซึ่งจะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภายใน กนอ. สะท้อนให้เห็นถึงความยอมรับจากคนใน กนอ. ที่มีให้กับผู้บริหารที่มีความตั้งใจ แม้คนนั้นจะถูกมองว่าเป็นคนนอกก็ตาม” นางอัญชลีกล่าว
นางอัญชลี ยังได้ฝากถึง ผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ ให้สานต่อแนวทาง Ease of Doing Business หรือความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึง กนอ. ในการลดขั้นตอนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ และจูงใจผู้ประกอบการรายเก่าให้อยู่เป็นหุ้นส่วนคนสำคัญของ กนอ. ต่อไป ซึ่งช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ส่วนตัวได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการถึงความเอาใจใส่ของ กนอ.ในการแสวงหาหนทางเพื่ออำนวยความสะดวกลดขั้นตอนให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
ส่วนการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (Green Transition) นั้น ถือว่า กนอ. ทำได้ดีอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพื้นฐานของผู้ประกอบการในนิคมฯ ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีธรรมาภิบาลที่ดี มีความตระหนัก และให้ความสำคัญกับส่วนรวม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ.