ครม.มีมติทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร)
วันที่ 20 พ.ค.2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ในประเด็นเงินจ่ายขาด จากจำนวน 10.00 ล้านบาท เป็นจำนวน 25.30 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ (กษ.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 กุมภาพันธ์ 2557) อนุมัติการจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กองทุนฯ) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยืมเงินเพื่อดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด (โครงการฯ) วงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2559 - 30 เมษายน 2564 และอนุมัติเงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการของกลุ่มเกษตรกรในระดับจังหวัด รวมถึงการเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้และแก้ไขปัญหาของกลุ่มเกษตรกรให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้อาชีพเกษตรกรยังคงเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน มั่นคงและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนขององค์กรเกษตรกรขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 [เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กองทุนฯ)] โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด (โครงการฯ) ในประเด็นเงินจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามงานและค่าบริหารโครงการฯ จากเดิมจำนวน 10 ล้านบาท เป็นจำนวน 25.30 ล้านบาท เนื่องจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เบิกเงินจ่ายขาดจนครบ จำนวน 10 ล้านบาทแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร (กสก.) ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ และการส่งชำระต้นเงินคืนมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2564 ปี 2565 และปี 2567 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2573 จึงทำให้กรมส่งเสริมสหกรณ์มีภาระค่าใช้จ่ายในการติดตามงานและค่าบริหารโครงการเพิ่มขึ้น
“เนื่องจากโครงการได้ดำเนินการมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยครั้งล่าสุดได้มีการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2573 อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กษ. โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถส่งคืนต้นเงินที่ยืมมาให้แก่ กสก. ได้เพียง 190 ล้านบาท (จากจำนวน 1,000 ล้านบาท) ส่วนที่เหลืออีก 810 ล้านบาท ยังคงไม่สามารถติดตามเร่งรัดให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ชำระคืนหนี้ได้ทั้งหมด จนส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ รวมถึงการเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้และแก้ไขปัญหา ของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ กษ. ต้องขออนุมัติจัดสรรเงินจ่ายขาดเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 15.30 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการดังกล่าว” นายอนุกูล ระบุ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระหรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น กค. เห็นว่า ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการวิเคราะที่ถูกหนี้เพื่อจัดชั้นลูกหนี้ บริหารจัดการหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อลดปัญหากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเกษตรกรชำระหนี้ควบคู่กับการขยายระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดเป้าหมายการรับชำระหนี้และส่งเงินต้นคืนคืนกองทุนฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี รวมถึงกำหนดแผนการดำเนินงานและแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรตรกร เพื่อให้สามารถเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรม และ พณ. สงป. และ สศช.มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่าการพิจารณาดำเนินโครงการ และการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะต้องคำนึงถึงถึงเหตุผล ความจำเป็น ความคุ้มค่า เป็นไปด้วยความโปร่งใสตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบได้ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรกำกับดูแลให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเบิกค่าใช้จ่ายตามที่ใช้จริงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการเท่านั้น รวมถึงติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานและติดตามเร่งรัดหนี้สินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อให้สามารถส่งเงินคืนกองทุนฯ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป เป็นต้น