เมืองไทย 360 องศา
ได้เห็นกำหนดการเดินทางไปอังกฤษและโมนาโกของ ระหว่าง วันที่ 21-25 พฤษภาคม นี้ โดยระบุว่าเป็นการเดินทางไปเปิดช่องทางการค้า ส่งเสริมตลาดสินค้าไทยผ่าน “ซอฟต์เพาเวอร์” โดยเป็นการเดินทางแบบเป็นคณะใหญ่จัดเต็ม โดยในกำหนดการดังกล่าว ไม่มีวาระการพบปะกับระดับผู้นำประเทศเลย ไม่มีการลงนามในสัญญาอะไรสักฉบับเดียว จนน่าสงสัยเป็นคำถามว่า การเดินทางไปแบบนี้มัน “คุ้มค่า สมราคา” สมกับระดับผู้นำประเทศต้องนำคณะใหญ่ไปด้วยตัวเองแบบนี้ หรือไม่
จากการแถลง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะมีกำหนดการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร และราชรัฐโมนาโก ระหว่างวันที่ 21– 25 พ.ค. 68 โดยนายกรัฐมนตรี จะออกเดินทางในคืนวันที่ 20 พ.ค.นี้ และจะเดินทางถึงกรุงลอนดอน ช่วงเช้าของวันที่ 21พ.ค.เวลา 07.30 น โดยการเดินทางครั้งนี้ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ เปิดช่องทางขยายตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้าไทย ผ่าน Soft Power ด้านอาหาร กีฬา การท่องเที่ยว ซึ่งสหภาพยุโรป เป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าของไทย
ในกำหนดการ ยังระบุอีกว่า หลังเดินทางถึงกรุงลอนดอน ในเช้าวันที่ 21พ.ค.นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โฉมใหม่ ซึ่งภายในงาน มีการจัดแสดงสินค้าอาหารไทย ผลไม้ ข้าวหอมมะลิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ศิลปวัฒนธรรม การนวดแผนไทย และการแสดงมวยไทย และนายกรัฐมนตรีจะร่วมประชุมกับ “ทีมไทยแลนด์” และผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ต่อด้วยสมาคมธุรกิจไทยในสหราชอาณาจักร (Association of Thai Businesses in the UK) เพื่อหาแนวทางขยายตลาด และเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าอาหารไทย โดยเฉพาะผัก ผลไม้สด และข้าวหอมมะลิ ในสหราชอาณาจักร และยุโรป จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะมอบประกาศนียบัตร Thai SELECT แก่ร้านอาหารไทยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 115 ร้าน และรับฟัง แนวทางในการพัฒนากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักร
ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรี จะเยี่ยมชมค่ายมวยไทยที่มีชื่อเสียงในกรุงลอนดอน เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือด้านกีฬาระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร รวมถึงการผลักดันระบบการรับรองมาตรฐานเทรนเนอร์ ผู้ฝึกสอนมวยไทยในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมิติของ Soft Power ด้านกีฬา
จากนั้น วันที่ 22พ.ค.นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมกิจกรรม In-store Promotion และประชาสัมพันธ์สินค้าไทย ณ ห้างค้าปลีก Wing Yip Superstore สาขา Cricklewood ซึ่งเป็นซูเปอร์สโตร์ รายใหญ่ของสหราชอาณาจักรที่นำเข้าสินค้าอาหารจากเอเชียกว่า 4,500 รายการ และกว่า 1,000 รายการ จากประเทศไทย โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหาร ไปยังสหราชอาณาจักรมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาท คิดเป็น 72% ของการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหราชอาณาจักร และในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะหารือร่วมกับผู้อำนวยการด้านการท่องเที่ยวภาคพื้นยุโรป เพื่อมอบนโยบายและแลกเปลี่ยนมุมมอง และผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย ให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน
นายจิรายุ กล่าวว่าในวันที่ 23 พ.ค. นายกรัฐมนตรี จะเดินทางจากกรุงลอนดอน ไปยังเมืองมอนติคาร์โล ราชรัฐโมนาโก เพื่อร่วมหารือกับผู้บริหารระดับสูง ของการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่ง Formula 1 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ สำหรับการจัดการแข่งขัน F1 รูปแบบในเมือง (City Circuit) ในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังได้รับเชิญให้เยี่ยมชมสนามแข่ง และร่วมรับชมการแข่งขัน Formula 1 Tag Heuer Monaco Grand Prix ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามแข่งรถที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ที่สามารถสร้างรายได้ในรูปแบบที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น
“การเดินทางครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี เป็นการผลักดันนโยบายเชิงรุก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การส่งออก การท่องเที่ยว และ Soft Power เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในสายตานานาชาติ โดยเฉพาะในตลาดสหราชอาณาจักร และยุโรป ซึ่งมีศักยภาพสูง โดยนายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นดึงดูดและส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญในการเปิดทางให้ผู้ประกอบการของไทยได้ขยายพื้นที่ทางการค้าบนเวทีโลกอย่างยั่นยืน” นายจิรายุ ระบุ
นั่นคือกำหนดการอย่างเป็นทางการสำหรับการเยือนอังกฤษ และโมนาโก ตั้งแต่วันที่ 21-25 พฤษภาคม ที่นานเกือบสัปดาห์ โดยเป็นการเยือนแบบเป็น“คณะใหญ่” มีกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้องมากมายร่วมเดินทางไปด้วย เพียงแต่ว่าในระละเอียด ยังไม่ได้ระบุว่าสำหรับกระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นระดับรัฐมนตรีว่าการ คือนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ร่วมเดินทางไปด้วยหรือไม่
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ทั้งสามสี่วันทั้งในอังกฤษ และโมนาโก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่มีกำหนดการพบหารือกับระดับผู้ประเทศ ทั้งนายกรัฐมนตรีหรือแม้แต่ระดับรัฐมนตรีสักรายเดียว มีแต่ภาคเอกชน ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของร้านอาหารไทย ในอังกฤษ และการเดินทางไปในครั้งนี้งานหลักเหมือนกับการ “ไปเปิดงานนิทรรศการ” ในต่างประเทศเสีย มากกว่า
ซึ่งพิจารณาจากรายละเอียดและกำหนดการต่างๆ ที่เปิดเผยออกมา งานแบบนี้น่าจะเป็นแค่ระดับรัฐมนตรี หรือเพียงแค่ “หัวหน้าทีมไทยแลนด์” ในสหราชอาณาจักร ก็น่าจะโอเคแล้ว
นอกจากนี้ การหารือกับผู้บริหารระดับสูงของการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่ง หรือ “เอฟ 1” เพื่อชักจูงให้มาจัดการแข่งขันในประเทศไทยนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ลงทุน และคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากเปรียบเทียบกันระหว่างการแข่งขัน “เอฟ1” กับ “โมโตจีพี” อย่างไหนจะได้รับความนิยมกว่ากัน เพราะมีเสียงพูดว่า การแข่งขันรถยนต์สูตร 1 กำลังเสื่อมความนิยม ทั้งค่าตั๋วแพง ชาวบ้านเข้าถึงยากกว่า
อย่างไรก็ดีการดักคอ หรือ วิจารณ์แบบ “ขัดคอ” แบบนี้ บางคนอาจมองว่าขัดขวางการขยายตลาดสินค้าไทย วัฒนธรรมไทย ที่เป็นการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ ที่กำลังนำเสนอแบบว่า เป็นการ “ทำงานเชิงรุก” ตามที่อ้าง
แต่หากมองอีกมุมหนึ่งมันอาจไม่ต่างจากการ “ละลายงบ” ที่ไม่คุ้มค่า เพราะระดับนี้น่าจะเป็นการเยือนระดับผู้นำที่เชื่อมความสัมพันธ์ มีการลงนามในสัญญาสำคัญที่จับต้องได้ เหมือนกับที่เคยเห็นการเยือนของผู้นำต่างประเทศก่อนหน้านี้ ดังนั้นภาพที่เห็นหากให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพมันอาจไม่ต่างจากการนำคณะไป “ทัวร์ต่างประเทศ” ให้ฉ่ำ ก่อนกลับมา “รับศึกใหญ่” ที่มีความเสี่ยงสูงหรือเปล่า เพราะหากมองตามรูปการณ์แล้วหนักหนาสาหัสทุกด้าน!!