“นายกฯ“ พบชาวสวนเมืองจันทน์ฯ โชว์ตัดทุเรียน ฟังปัญหาราคาผลผลิต รับข้อเสนอทำวิจัยเพิ่มคุณภาพ,แก้ราคาแกว่ง-ลดเวลาสินค้าตกค้าง-แก้ปมแรงงาน-ช้างป่า ด้าน สส.ประชาชนโผล่เสนอปัญหา
เมื่อเวลา 10.55 น.วันที่ 17 พ.ค.ที่สวนรักตะวัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี โดยใช้รถยนต์ Lexus สีดำทะเบียน ขย 1111 กรุงเทพมหานคร เป็นพาหนะเดินทาง โดยพบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการตลาดและราคาผลผลิตในช่วงฤดูกาลผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดทางภาคตะวันออก และมอบนโยบายกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ตามแผนบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 รวม 7 มาตรการ ครอบคลุม 25 แผนงาน ให้ผลไม้ไทยปีนี้ได้ราคาดีตลอดทั้งปี โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมคณะ เพื่อรับฟังปัญหาต้นทุนการผลิตและผลผลิต จากเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก และแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และเข้าร่วมชมการไลฟ์ขายทุเรียนของเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer
โดยมีผู้ว่าฯ จันทบุรี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม ร่วมงาน รวมถึงสส.พรรคประชาชน อาทิ นาย
วรายุทธ ทองสุข สส.จันทบุรี เขต 1 น.ส.ญาณณิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี เขต 3 นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด มาสังเกตการณ์และรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลเกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวสวนเกษตรกรผลไม้ภาคตะวันออก
ตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไทย เสนอให้รัฐบาล ช่วยสนับสนุนการส่งออก และให้มีห้องปฏิบัติการตรวจแล็บห้อง ในพื้นที่จังหวัดที่มีผลไม้ เช่น จันทบุรี และชุมพร เพื่อความรวดเร็วในการเปิดช่องทางจัดเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนั้นขอให้ใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ เช่น ลิซ่า แบล็กพิงค์ ช่วยโปรโมตสินค้า
น.ส.แพทองธาร รับฟังปัญหาจากเกษตรกร และให้ออกระเบียบควบคุมคุณภาพทุเรียน โดยกำหนดเปอร์เซ็นต์ความแห้งของทุเรียน ให้มีหน่วยงานของรัฐมาประกบกับการตรวจสอบของล้ง ด้านตัวแทนผู้ปลูกมังคุด สะท้อนปัญหาเรื่องคุณภาพและราคาที่แกว่งตัวสูง ทั้งที่ต้นทางราคาต่ำปลายทางราคาสูง จึงอยาก ให้โรงรับซื้อติดป้ายราคา และตรวจสอบสาเหตุราคาต้นทางตกต่ำ ช้างป่ารบกวน รวมถึงแก้ปัญหาด่านตรวจสอบของจีน ใช้เวลา 8-12 วัน ทำให้ผลไม้ตกค้าง
ด้าน น.ส.ญาณณิชา เสนอว่า ขอให้พิจารณาเรื่องการขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวทำงานและสามารถเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อเป็นแรงงานในการเก็บผลผลิต รวมถึงอนุมัติประมาณแก้ปัญหาช้างป่ารบกวนพืชผล
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้มาเจอชาวจันทบุรี ตั้งใจจะมาคุยกับชาวสวนผู้ประกอบการทุกคนว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อจัดการปัญหาได้ โดยเรื่องราคาผลผลิต ได้พูดกับกระทรวงเกษตรฯว่าจะทำอย่างไร และนำเอกชนเข้ามาช่วยรับซื้อเพื่อให้ราคาไม่ลงเยอะและสินค้าไม่เน่าเสีย เรื่องนี้จัดการเรียบร้อยแล้ว และจะสนับสนุนเรื่องการวิจัยเพิ่มเติมเรื่องของแลปทั่วประเทศ เมื่อก่อนเราเป็นตัวท็อปเรื่องการส่งออก ทั้งปลาทะเลและกุ้ง วันนี้ลดน้อยลงส่วนหนึ่งจากปัจจัยธรรมชาติ แต่เพื่อนบ้านมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีขึ้น และลูกค้าที่มาซื้อของดีราคาถูกหรือราคาดีซึ่งเราก็ชอบ และสั่งการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้มีการทำวิจัยเพิ่มแล้ว เพื่อพัฒนาสินค้าให้รับการโลกที่เปลี่ยนไป เราศึกษาตรงนี้ไม่ปล่อยแน่นอน
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องคุณภาพผลผลิตที่พบปัญหาติดด่านเพื่อตรวจสอบ ได้แก้ปัญหาไปแล้ว โดยการพูดคุยกับจีน มีการเซ็ตทีมเป็น 2 ทีมคือจีนและไทย ติดตามเรื่องนี้เพราะเข้าใจไม่อยากทำให้ผลไม้เสียเพราะทำให้ต้นทุนเพิ่ม ขอย้ำว่าจะพยายามทำให้ลดจำนวนวันที่สินค้าติดด่านน้อยที่สุด
นอกจากนั้นจะทำเรื่องวัน สต็อป เซอร์วิส ให้การเดินเอกสารจบในจุดเดียวเพื่อส่งได้เร็ว ส่วนการตรวจสอบสารตกค้างจะให้ทางผู้รับซื้อส่งคนของเขามาตรวจในที่ของเรา ร่วมกัน และขณะนี้ด่านตรวจของจีนกำลังสร้างเพิ่มให้เพื่อให้มีช่องทางเพิ่ม และลดเวลาจากเดิมที่ใช้ 8- 12 วัน ทางกระทรวงเกษตรณระบุว่าจะพยายามทำให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ขณะที่ข้อเสนอให้มีกฎหมายควบคุมคุณภาพผลไม้ ได้สั่งไปแล้วโดยวันที่ 10 ก.ค.นี้ จะประกาศใช้กฎหมายที่ไม่ชัดเจนและมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งทีมทำงานดูแลเรื่องคุณภาพของผลไม้โดยพูดคุยกับคนพื้นที่ว่าจะเอาอย่างไรบ้าง ในการกำหนดราคาและคุณภาพ เพื่อให้ตรงกับล้งและเกษตรกร สำหรับเรื่องแรงงานจะมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ไปดูแลกฎระเบียบว่าจะทำอะไรได้บ้าง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รับส่งต่อไปที่กระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ปัญหาช้างป่ารบกวนพื้นที่ชาวสวน จะดูให้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีอันตรายกับชีวิตคน ตรงนี้สำคัญสุดเมื่อโลกเปลี่ยน ถ้าเรายังมีลมหายใจเราสู้ไหวอยู่แล้ว นี่คือชีวิต ฉะนั้นจะรับปัญหาไปดูว่าจะทำอะไรเพิ่มได้อีกบ้าง ถ้าคิดไม่ออกจะถามผู้ว่าฯพื้นที่ว่ามีข้อแนะนำอย่างไร
จากนั้น น.ส.แพทองธาร ชมนิทรรศการสถานการณ์การผลิตผลไม้ของ จ.จันทบุรีและภาคตะวันออก และปลูกต้นทุเรียนเป็นที่ระลึก และชมการนำเทคโนโลยีการเกษตร เช่น โดรน พ่นยาฆ่าแมลง เพื่อทุ่นแรง และชมต้นทุเรียน100 ปี และ ได้นำโทรศัพท์มาถ่ายรูปการตัดทุเรียน โดยนายกฯระบุว่า “เคยมาสวนทุเรียนแล้ว คนตัดทุเรียนเก่งมาก ไม่หล่นเลยสักลูก” จากนั้นนายกฯได้โชว์การตัดทุเรียนจากต้น ให้สื่อได้ชม โดยถามว่ากี่กิโลกรัม ซึ่งผู้ประกอบการ ระบุว่าประมาณ3กิโลกรัม นายกฯยิ้ม พร้อมกับระบุว่า“สบาย อุ้มลูกหนักกว่านี้”