xs
xsm
sm
md
lg

“เท้ง” รำลึก 33 ปีพฤษภา 35 เรียกร้องนักการเมืองเป็นแบบอย่าง รักษาศรัทธาต่อระบบรัฐสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เท้ง ณัฐพงษ์” รำลึก 33 ปีพฤษภา 35 ยก 3 วาระสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย เรียกร้องนักการเมืองดำรงตนเป็นแบบอย่าง รักษาศรัทธาประชาชนต่อระบบรัฐสภาและประชาธิปไตย

วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมงานรำลึก 33 ปีเหตุการณ์พฤษภา 2535 โดยวางมาลาและสดุดีวีรชนพฤษภาประชาธรรมความตอนหนึ่งว่า ตนเกิดในปี 2530 เป็นตัวแทนของคนอีกรุ่นหนึ่ง ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมา 3 ครั้งในปี 2534, 2549 และ 2557 การสร้างอนุสรณ์สถานและจัดงานรำลึกทุกปีส่วนหนึ่งหนึ่งก็เพื่อย้ำเตือนและส่งมอบเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยถึงคนรุ่นถัดไปเช่นตนในวันนี้

เหตุการณ์พฤษภา 35 ผ่านมา 33 ปี มี 3 บทเรียนที่ยังไม่มีบทสรุปร่วมกันในสังคมไทยและเป็นวาระสำคัญที่พวกเราในปัจจุบันต้องร่วมกันแก้ไขทำให้สำเร็จ


บทเรียนแรก “การยอมรับกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน จะไม่นำมาซึ่งการสูญเสียใดอีก” ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้ฉันทามติว่าจะต้องมีระบบระบอบการเมืองแบบไหน แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเจตจำนงอันแน่วแน่ของผู้นำประเทศในการผลักดันกลไกการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ ให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งสังคม จนรัฐธรรมนูญ 2540 อาจเป็นหนึ่งในฉบับที่ดีที่สุดที่สังคมไทยเคยมีมา

ในสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยก็ได้ฉันทามติอย่างกว้างขวางแล้วผ่านการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมาว่าเราจะออกจากการสืบทอดอำนาจ เราจะลบล้างผลพวงรัฐประหาร เราจะมีประชาธิปไตยเต็มใบ เราจะมีรัฐบาลมาจากพี่น้องประชาชน และเป็นรัฐบาลที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง แต่จนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่สามารถแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย


บทเรียนที่ 2 “นำคณะรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ยังไม่เคยมีการไต่สวน สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง ผู้กระทำความผิดไม่เคยต้องรับผิดรับชอบต่อการกระทำผิดกฎหมายและทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม อีกทั้งยังออกกฎหมายลบล้างการกระทำความผิดต่อคณะรัฐประหาร ดังนั้นเราต้องสร้างวัฒนธรรมนำคณะรัฐประหารทั้งหมดกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมศึกษาและแสวงหาข้อเท็จจริงในหลายเหตุการณ์ในอดีต เพื่อให้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

บทเรียนที่ 3 “ต้องกล้าหาญในการเดินหน้าปฏิรูปกองทัพ” รัฐบาลต้องเริ่มเดินหน้าปฏิรูปให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ให้กองทัพตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อผู้แทนราษฎรในรัฐสภา ปิดประตูการรัฐประหารและการทำลายหลักความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่มีเหตุการณ์รัฐประหารหรือการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพอีก


หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าการปฏิวัติรัฐประหารและเป็นต้นทุนทางประชาธิปไตยที่เราไม่อาจเสียไปได้อีก คือความเชื่อมั่นศรัทธาของพี่น้องประชาชนต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตััง ต่อการเมืองในระบบรัฐสภา เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเลิกเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาธิปไตย นั่นคือจุดจบที่จะไม่สามารถปลูกต้นไม้ประชาธิปไตยในประเทศนี้ได้อีก

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนในประเทศนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ได้ลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้สืบทอดอำนาจจาก คสช. วันนี้เราต้องช่วยกันขบคิดตั้งคำถามว่าโฉมหน้าของรัฐบาลในปัจจุบันสะท้อนเจตจำนงของประชาชนแล้วหรือไม่ เราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องเชิดชูศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยต่อไป

ตนเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้ประชาชนยังคงเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาธิปไตย คือนักการเมืองจะประพฤติตัวอย่างไรให้เป็นแบบอย่าง ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นว่านักการเมืองสัญญาอะไรไว้ก็ทำแบบนั้น การเข้าสู่อำนาจการเมืองเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นักการเมืองเป็นปากเป็นเสียงต่อสู้เรียกร้องแทนประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตนจะให้คำมั่นสัญญาเช่นกัน

“วันนี้ผมไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าการขอให้ช่วยกันดำรงตนให้เป็นแบบอย่างและปกป้องเชิดชูศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไป”นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น