“สภาองค์กรผู้บริโภค” จี้นายกฯ รีบพิจารณาหนังสือค้านประมูลคลื่นโทรคมฯ ก่อนวันจริง 29 มิ.ย. แนะโยน “กฤษฎีกา” ชี้ขาด เชื่อได้เรื่องก่อนประมูลแน่ วอนฝ่ายค้านช่วยอีกแรง เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า จนถึงตอนนี้หนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการประมูลขึ้นความถี่ที่ สภาองค์กรผู้บริโภค ยื่นไปยังไม่มีความคืบหน้า หรือมีความเคลื่อนไหวใดๆ จากฝั่งของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่ก็ยังแอบคิดว่า นายกรัฐมนตรี อาจจะยังดูข้อมูลเรื่องนี้อยู่ ซึ่งตนเองก็เป็นห่วง เพราะการประมูลจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายนนี้แล้ว จึงอยากขอความเห็นใจ และขอร้องให้ นายกรัฐมนตรี หยิบเอาหนังสือร้องเรียนเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะห้วงเวลาหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือไปเมื่อปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลานานแล้ว ควรจะให้หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นคนตีความ และตนเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรที่จะให้นายกดำเนินการหรือตัดสินใจ เพราะหากนายกฯ สนใจก็คงเร่งทำเรื่องนี้ไปนานแล้วไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้และใกล้เวลาที่จะมีการประมูลเช่นนี้
“หรือหากนายกรัฐมนตรีคิดว่า ไม่ได้มีอำนาจตรงในการพิจารณายับยั้งก็ควรจะส่งให้ทางกฤษฎีกา (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ตีความ เพื่อทำเรื่องนี้ให้กระจ่างก่อนถึงวันประมูล”
เมื่อถามถึงเงื่อนไขที่เปิดโอกาสผู้เล่นรายใหม่ได้เข้ามาประมูล นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดออกมาก็ไม่ได้เปิดให้ผู้เล่นหน้าใหม่ได้เข้ามาประมูลหรือเป็นเงื่อนไขที่มีโอกาสน้อยมาก ทั้งราคาตั้งต้นของคลื่นที่ต่ำเกินไป โดยที่มาของการคำนวณราคาขั้นต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2300 MHz ที่ไม่เคยมีการประมูลมาก่อนในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับคลื่น 2100 ที่เป็นย่านใกล้เคียงกับกับมีราคาที่แตกต่างกันเกือบ 2,000 ล้านบาท ในจำนวน 10 MHz เรื่องงวดการชำระค่าคลื่นความถี่ที่เหมือนจะช่วยรายใหม่ โดยให้จ่ายค่าคลื่น 10 งวด (งวดละ 10%) แต่ก็ซ่อนเงื่อนไขว่าหากไม่สามารถดำเนินการขยายโครงข่ายตามที่กำหนดในข้อ 17 ได้ ต้องจ่าย 3 งวด (50%-25%-25%) และประกาศข้อ 17 สอบถามความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดรวมถึงเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมเพื่อการประกอบกิจการ เช่น ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบล ภายใน 2 ปี
“ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์ อย่าง NT ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานและรายได้ในตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยอยู่ที่ประมาณ 3% ก็อยากให้รักษาผู้เล่นรายเล็กให้ได้อยู่ในตลาดไปก่อนไม่ใช่มีแค่โอเปอร์เรเตอร์เจ้าใหญ่ ผูกขาดในตลาดแค่สองราย ซึ่งเงื่อนไขที่กำหนดมาอ่านจนจบก็ได้แต่ทำใจ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ตัดทอนผู้เล่นรายเล็กในตลาดอาจจะทำให้ไม่มีผู้เล่นรายใหม่หรือรายเดิมที่มีสัดส่วนน้อยอยู่ในตลาดโทรคมนาคมได้และสิ่งที่เห็นที่จะมีความหวังเดียวก็คือศาลปกครองหากมีการนำเรื่องนี้ไปสู่การฟ้องร้องและศาลปกครองพิจารณาตัดสินก็จะอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะได้รับความเป็นธรรม”
นางสาวสุภิญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลที่จะออกมาจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเมืองชุดนี้เพราะหลังจากที่มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นได้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาที่บอกว่าเป็นรัฐบาลจากประชาชนเหมือนจะเป็นคานดุลกับ กสทช. เพราะตลอด 9 ปี ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ทหาร และ คสช. ก็หมดความหวังไปมากกับการต่อสู้เรื่องนี้ ลำพังกำลังของสภาผู้บริโภค เสียงก็ไม่ได้ดังมากขนาดนั้นจึงหวังพึ่งมือของฝ่ายค้านในสภาให้ช่วยตรวจสอบและขับเคลื่อนเรื่องนี้และสิ่งสำคัญที่สุดอยากจะฝากสื่อมวลชนและสังคมให้จับตาและกระตุ้นเรื่องนี้เพราะถือเป็นเรื่องที่ประเทศไทยและคนไทยจะเสียผลประโยชน์ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม อยากให้นายกรัฐมนตรีหยิบนำเรื่องนี้มาพิจารณาก่อนเพราะถือเป็นผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติที่จะได้รับผลประโยชน์