"สภาพัฒน์-ทส." กังวล "โรงกลั่นสุราขาว" ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตร บําบัดน้ำเสียไม่ต่อเนื่อง หลังมติครม. หนุน Soft Powe ลดข้อจำกัดผู้ผลิตขนาดเล็ก-กลาง ย้ำให้ "สรรพสามิต" เข้มงวดกํากับดูแลโรงงาน ชี้อาจมีน้ำทิ้งปริมาณมาก อาจเกิดความสกปรกค่อนข้างสูง จี้ตรวจสอบกระบวนการกลั่น "น้ำกากสา" หากปรับลดระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตร กระทบระบบบําบัดน้ำเสีย ถึงขั้นน้ำท่วม หรือน้ำไหลล้นลงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงในช่วงฤดูฝน หวั่นเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชน
วันนี้ (15 พ.ค.2568) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลัง คณะรัฐมนตรี (13 พ.ค.) เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ก่อนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจาณาเป็นเรื่องด่วน
ตามนโยบาย การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศและนโยบายการยกระดับการบริการภาครัฐ เพื่อลดข้อจํากัดในการเข้าสู่ธุรกิจและการประกอบ ธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุรารายใหม่
ล่าสุดพบว่า มีความเห็นของ 3 หนวยงานรัฐต่อร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา โดย สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เห็นว่า กระทรวงการคลัง ควรให้ความสําคัญกับคุณภาพและมาตรฐานทางการสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมสุราอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งกําหนดภาชนะสําหรับการบรรจุสุราแช่ชนิดเบียร์ที่มีขนาดเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มเป้าหมาย อาทิ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกํากับดูแลให้โรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาว ที่มีสถานที่ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตร มีการบําบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่น เป็นสถานประกอบการที่น้ำทิ้งมีปริมาณความสกปรกค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกระบวนการกลั่นสุรา ซึ่งจะมีน้ำกากสาเกิดขึ้น หากปรับลดระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่าหนึ่งร้อยเมตร
"ระบบบําบัดน้ำเสียในบางแห่งอาจมีปัญหาน้ำท่วม หรือน้ำไหลล้นลงสู่แหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงในช่วงฤดูฝน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเหตุเดือดร้อนรําคาญ และข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนได้"
ขณะที่กระทรวงการคลัง ย้ำว่า กฎกระทรวงการผลิตสุราสามารถดําเนินการได้ทันที ประกอบด้วย
(1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็กและขนาดกลาง
(2) การเปิดโอกาสการตั้งโรงอุตสาหกรรม ขนาดกลางได้ทันที
(3) การขยายโอกาสให้โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต และคราฟต์เบียร์
โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้คํานึงถึงมาตรฐานการผลิตสุรา และการสนับสนุนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรการเกษตร หรือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีความสอดคล้องกับการแก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
สำหรับสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง
แก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กและโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง รวมทั้งแก้ไขคำนิยามเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การสร้างรายได้ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ตามนโยบายการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม
เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ โดยการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและสุราชุมชน และนโยบายการยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
กรมสรรพสามิต ได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุราใน 4 ประเด็น ได้แก่
1) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง โดยไม่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
2) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง เพื่อให้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางไม่ต้องยึดโยงกับโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
3) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็กและขนาดกลาง
โดยแก้ไขให้สถานที่ตั้งของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นชนิดสุราขาว สามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ โดยต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
4) ประเด็นการแก้ไขคำนิยามเกี่ยวกับโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต เป็นคำว่า โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์สด
เพื่อเป็นการผ่อนปรนและขยายโอกาสให้โรงอุตสาหกรรมดังกล่าว สามารถนำเบียร์สดออกจำหน่ายนอกสถานที่ผลิตได้ โดยจะต้องบรรจุใส่ภาชนะที่ออกแบบสำหรับการบรรจุเบียร์สด (ถัง Keg) ตามลักษณะและขนาดที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนดเท่านั้น.