“อดีต สว.รสนา” ถาม รมช.คมนาคม-ผู้ว่าฯ รฟม.จงใจเบี้ยวหรือไม่ หลังเคยทำข้อตกลงกับภาคประชาสังคมเรื่องการใช้ตึกแถวโบราณสถาน 7 คูหา สร้างสถานีผ่านฟ้า ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โดยจะคงสภาพเดิม 72% แต่ต่อมากลับไม่ทำตาม อ้าง รฟม.มีแบบที่ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการเกาะกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว โบ้ยให้ไปคุยกับคณะกรรมการฯ เอง แล้วทุบอาคาร ไม่ยอมติดต่อภาคประชาชนอีกเลย
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Rosana Tositrakul ว่า รมช.คมนาคมและผู้ว่า รฟม.กำลังเบี้ยวข้อตกลงกับภาคประชาสังคมเรื่องอาคารโบราณสถานที่ทำเป็นสถานีรถไฟฟ้าหรือไม่
อาคาร 14 คูหาบนถนนพระสุเมรุตอนปลายก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีสถานะเป็นโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ทำแผนเสนอไปทางกรมศิลปากรขอใช้อาคาร 7 คูหา(จาก 14 คูหา)ดังกล่าวเป็นสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงชื่อสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (สถานีผ่านฟ้า)
กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย อดีตสมาชิกวุฒิสภา สถาปนิก วิศวกร กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค ศิลปิน นักแสดง ดีไซเนอร์ และผู้นำชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคมที่ต้องการเห็นโบราณสถานได้รับการอนุรักษ์ ดูแล และอยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่ตามหลักวิชาในการอนุรักษ์ของนานาอารยประเทศ กลุ่มอนุรักษ์ฯได้ติดตามการที่รฟม.ต้องการใช้อาคาร 7 คูหาในก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ปลายปี 2564 กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านไปถึงอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งได้รับคำตอบจากอธิบดีว่า ได้แจ้ง รฟม. ให้หลีกเลี่ยงการใช้อาคารที่เป็นโบราณสถาน มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว
ต่อมาในปลายปี 2565 มีข่าวว่า รฟม.เดินหน้าจะเวนคืนอาคารดังกล่าว กลุ่มอนุรักษ์จึงทำหนังสือขอให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างอธิบดีกรมศิลปากร รฟม.และประชาคมกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งอธิบดีได้กรุณาจัดการประชุมเมื่อ 6 มีนาคม 2566 เพื่อขอให้รฟม.ทบทวนการใช้สถานที่อื่นที่ไม่รบกวนโบราณสถาน แต่ รฟม.ไม่ทบทวนข้อเรียกร้องดังกล่าว
กลุ่มอนุรักษ์ฯ ทำหนังสือร้องเรียนไปทางรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และประธานคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ในการพิจารณาให้คำแนะนำผู้ว่าการ รฟม.ในประเด็นดังกล่าวพร้อมส่งสำเนาหนังสือเหล่านี้ถึงอธิบดีกรมศิลปากร และผู้ว่า รฟม.
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ซึ่งดูแล รฟม.โดยตรง ได้รับการติดต่อจากประธานอนุ กมธ.ศิลปะวัฒนธรรม วุฒิสภา ขณะนั้นคือนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และอนุกรรมการ นายประสาร มฤคพิทักษ์โดยการมอบหมายของนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ประธาน กมธ.การศาสนา คุณธรรม จริยธรรมศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภาตามหนังสือร้องเรียนของกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ รมช.จึงได้เชิญกลุ่มอนุรักษ์ฯมาพบปะเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566
หลังการพบปะหารือแล้ว รมช.สุรพงษ์ ปิยะโชติได้แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย 1)นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่งเป็นประธานคณะทำงาน 2)อธิบดีกรมขนส่งทางราง เป็นรองประธานคณะทำงาน และคณะทำงาน ประกอบด้วย ตัวแทน รฟม.4 ท่าน ผู้แทนกรมศิลปากร 2 ท่าน และตัวแทนจากอนุกรรมการด้านศิลปะวัฒนธรรม วุฒิสภา 1 ท่าน ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ 3 ท่าน
โดยคณะทำงานมีอำนาจหน้าที่คือ 1)ศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2)พิจารณาแนวทางในการดำเนินการก่อสร้างร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถานฯ
3)ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามมติของคณะทำงาน
4)ให้มีอำนาจเชิญหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงฯ
5)รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ)ภายใน 30 วัน
หลังจากนั้นมีการประชุมคณะทำงานที่กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 โดยประธานคณะทำงานได้มอบหมายให้ รฟม.และกลุ่มอนุรักษ์ฯ เป็นคณะทำงานกลุ่มย่อย ไปหารือกันนอกรอบจนเป็นที่พอใจแล้วนำมาเสนอคณะทำงาน
ต่อมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมาได้มีการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยหลายครั้ง ระหว่าง รฟม.และกลุ่มอนุรักษ์ฯเพื่อพิจารณารูปแบบอาคารที่ใช้เป็นสถานีรถไฟใต้ดินพร้อมกับการอนุรักษ์ให้มากที่สุดโดยหลักการในการอนุรักษ์อาคารโบราณสถาน ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯขอให้มีการรักษาอาคารโบราณสถานให้มากที่สุดประมาณ 80% ซึ่งต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มอีก 23 ตรม.
ทางเลือกที่ 2 คือเก็บอาคารโบราณสถานเดิมไว้ 3 คูหา โดยไม่ต้องเวนคืนเนื้อที่เพิ่มอีก 23 ตรม.และเก็บกรอบโครงภายนอกอาคารกลับมาประกอบใหม่ จะอนุรักษ์โบราณสถานไว้ได้ 72% ซึ่งข้อเสนอนี้ต้องนำเสนอที่ประชุมคณะทำงานเพื่ออนุมัติ
ต่อมาในการประชุมคณะทำงานชุดใหญ่ เมื่อ 26 มีนาคม 2567 ที่ประชุมมีมติเลือกแนวทางที่ 2 คือรักษาอาคารโบราณสถานไว้ 72% โดยให้รักษากรอบโครงด้านหน้าอาคารเดิมไว้ทั้งหมด โดยใช้วิธีตัดอาคารทั้ง 7 คูหาไปเก็บไว้ก่อน เพราะการก่อสร้างต้องเปิดหน้าดิน หลังจากนั้นจึงนำกลับมาประกอบใหม่ดังเดิมเมื่องานใต้ดินเสร็จ และเก็บรักษาโครงสร้างภายในตามรูปทรงเดิมได้ 3 คูหา โดยไม่ต้องเพิ่มการเวนคืนพื้นที่อีก 23 ตรม. เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ และไม่เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง
ตามอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานที่ท่าน รมช.สุรพงษ์ ปิยะโชติมอบหมายให้พิจารณาในการดำเนินการก่อสร้างร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถานของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น จึงมีการพูดถึงแบบอาคารการก่อสร้างให้มีลักษณะเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างใหม่กับเก่า เพื่อให้เห็นว่าใหม่กับเก่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ตามแนวทางของท่านประธานคณะทำงานที่กล่าวว่าเพื่อให้ “การดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถานดังกล่าวเป็นแนวทางต้นแบบสำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นต่อไป”
เนื่องจาก รฟม.ได้เวนคืนโบราณสถานมาสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงหลายแห่ง เช่น สถานีสามยอด โรงพิมพ์ศรีหงส์ และ ตึกแขก จึงมีความสำคัญที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (สถานีผ่านฟ้า) จะเป็นแนวทางต้นแบบในการก่อสร้างและการอนุรักษ์โบราณสถานของ รฟม.ต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดสภาพสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมาะสม และไร้คุณค่าในการอนุรักษ์แบบสถานีสามยอด
ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2567 รฟม.ได้นัดประชุมกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ และแกนนำชาวบ้านในชุมชนแถบนี้ โดยมีแกนนำชาวบ้านประมาณ 30 คนมาเข้าร่วมประชุม ตัวแทนรฟม.คือคุณบารมินทร์ เจริญพานิช ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง 1 ซึ่งเป็นคณะทำงานและเลขานุการได้แสดงภาพสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นอาคาร 2 ส่วนเชื่อมต่อกัน โดยส่วนที่เป็นอาคารโบราณสถานคงรูปทรงเดิมไว้ ส่วนอาคารอีก 2 ห้องที่ไม่ใช่อาคารโบราณสถาน มีการออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผนังเป็นกระจก มองเห็นบันไดเลื่อนขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
การทำงานร่วมกันของคณะทำงานกลุ่มย่อยตามดำริของประธานคณะทำงานเพื่อให้อาคารสถานีรถไฟฟ้าที่จะเป็นต้นแบบแนวทางในการอนุรักษ์โบราณสถานให้อยู่ร่วมกับอาคารสมัยใหม่ จึงผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบเดิมและแบบใหม่มาอยู่ร่วมกัน
ส่วนอาคารโบราณสถาน 3 คูหาที่อนุรักษ์ไว้ตามโครงสร้างเดิม คุณบารมินทร์ เจริญพานิชได้แจ้งกับแกนนำชุมชนว่าจะให้เป็นประโยชน์สาธารณะต่อชุมชนย่านนี้ ซึ่งแกนนำชาวบ้านต่างยินดีกับข้อเสนอของ รฟม.
ต่อมา รฟม.ขอนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 โดยให้สถาปนิกของ ช.การช่าง มาชี้แจงว่าหน้าตาอาคารสถานีรถไฟฟ้าที่มีการนำเสนอต่อแกนนำชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ ฯ เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ทาง รฟม.ไม่ต้องการเสนอแบบแก้ไขนี้ต่อคณะกรรมการเกาะกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อพิจารณาอนุมัติ อ้างว่าเคยส่งแบบเดิมที่เป็นอาคารสร้างขึ้นแบบทรงไทยเลียนแบบอาคารโบราณสถานไปให้คณะกรรมการเกาะกรุงฯ พิจารณาแล้วก่อนที่ รมช.สุรพงศ์ ปิยะโชติ จะมีการตั้งคณะทำงานคณะนี้ และแบบอาคารดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการเกาะกรุงฯ ไปแล้ว
สถาปนิกของ ช.การช่าง โบ้ยให้กลุ่มอนุรักษ์เป็นผู้เสนอแบบอาคารไปให้คณะกรรมการเกาะกรุงฯ พิจารณาเอง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำไม่ได้ เพราะ รฟม.เป็นเจ้าของการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า และอยู่ในคณะทำงานร่วมกัน ข้อตกลงของคณะทำงานกลุ่มย่อย ควรนำเสนอในคณะทำงานชุดใหญ่เพื่อพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอย่างไร หากมีมติเห็นชอบ จึงนำเสนอข้อเสนอดังกล่าวเสนอให้ท่านรัฐมนตรี สุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นผู้พิจารณาและเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด หลังจากนั้น รฟม.ต้องเป็นผู้นำเสนอแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่ผ่านความเห็นชอบโดยลำดับของคณะทำงาน และท่านรัฐมนตรีไปให้คณะกรรมการเกาะกรุงฯ พิจารณา
ปรากฎว่าระหว่างนั้น รฟม.ได้มีการรื้อถอนอาคารโบราณสถานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงใช้วิธียุติการติดต่อกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ และหลีกเลี่ยงการจัดประชุมคณะทำงานต่อ ใช่หรือไม่
กระบวนการทำงานร่วมกันของคณะทำงานระหว่าง รฟม. และประชาสังคมกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ภายใต้การแต่งตั้งเป็นคณะทำงานโดยท่านรัฐมนตรีควรถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการเปิดให้ประชาคมด้านอนุรักษ์เข้ามามีส่วนร่วมกับ รฟม.เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานที่ รฟม.เวนคืนไปใช้ประโยชน์โดยที่ผ่านมา รฟม.ไม่ได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์โบราณสถานมากเพียงพอ
โดยที่อาคารโบราณสถานที่อยู่ในเกาะรัตนโกสิทร์ ซึ่งเป็นหัวแหวนของกรุงเทพมหานครนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ไม่ใช่สมบัติที่อยู่ในอำนาจของ รฟม.เพียงฝ่ายเดียวที่จะทำอะไรกับอาคารอนุรักษ์ก็ได้ตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจประชาชนที่คาดหวังให้การพัฒนาสมัยใหม่ สามารถทำร่วมไปกับการอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นอย่างเหมาะสมและอย่างบูรณาการ
ผู้ว่า รฟม.คงมองแค่ว่าการตั้งคณะทำงาน จะเป็นวิธีลดการคัดค้านจากประชาสังคมกลุ่มอนุรักษ์ฯ เท่านั้นกระมัง จึงต้องขอถามดังๆว่า เมื่อ รฟม. สามารถรื้อถอนอาคารโบราณสถานได้แล้ว ก็จะกลับคำพูด และกลับมติข้อตกลงทั้งหมดในที่ประชุมคณะทำงานเสมือนว่าไม่เคยมีมติข้อตกลงอะไรในคณะทำงานกลุ่มย่อย และคณะทำงานชุดใหญ่เลย ใช่หรือไม่ ?
ในฐานะประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ดิฉันพยายามขอให้ รฟม.ประสานให้มีการประชุมคณะทำงานชุดใหญ่เพื่อพิจารณาผลการทำงานของคณะทำงานชุดย่อยตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานคณะทำงาน แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับจะจัดประชุมเมื่อไร
ดิฉันขอให้คุณประสาร มฤคพิทักษ์ ติดต่อท่านรัฐมนตรี สุรพงษ์ ปิยะโชติ เรื่องการจัดประชุมตามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ข้อ 5 ที่ว่าให้ “รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) ภายใน 30 วัน”
คุณประสารได้ติดต่อท่านรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2567 จนถึงปัจจุบัน แม้ท่านรัฐมนตรีรับปากจะจัดประชุม แต่ไม่เคยมีการนัดหมายหรือแจ้งว่าจะประชุมเมื่อไหร่ จนถึงวันนี้
ทำให้เกิดข้อสงสัย และคำถามว่ารัฐมนตรี และผู้ว่า รฟม.ไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจังต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช่หรือไม่ และการตั้งคณะทำงานเป็นเพียงเทคนิกลวงให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ และประชาชนหยุดคัดค้าน ที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าการก่อสร้างเท่านั้น ใช่หรือไม่
เมื่อ รฟม.สามารถรื้ออาคารโบราณสถานได้แล้ว ก็ไม่ต้องสนใจข้อตกลงอื่นๆ กับชุมชนรอบสถานีรถไฟฟ้าอีกต่อไป ใช่หรือไม่
ประชาชนจะยังสามารถไว้วางใจทั้งท่านรัฐมนตรี และผู้ว่าฯรฟม.ได้อีกหรือไม่ การแต่งตั้งคณะทำงานระหว่าง รฟม. และ ประชาคมกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อให้ การดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถาน ได้มีแนวทางและต้นแบบสำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.ต่อไปนั้น เป็นสิ่งตั้งใจทำจริงหรือไม่
ประชาชนยังจะสามารถเชื่อคำมั่นสัญญาของ รฟม.ว่าจะให้อาคารโบราณสถานที่อนุรักษ์ไว้ 3 คูหา เป็นอาคารเพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชน จริงหรือไม่ หรือในอนาคตจะกลายเป็นอาคารให้เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์กันแน่ ?!
นี่คือสิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ และประชาชนในชุมชนย่านโบราณสถานแห่งนี้ต้องการได้คำตอบจากท่านรัฐมนตรีสุรพงษ์ ปิยะโชติ และ ผู้ว่าฯ รฟม. โดยเร่งด่วน
จะต้องให้ประชาชนจากชุมชนต่างๆที่ รฟม.เคยมาให้คำมั่นสัญญาไว้ ไปแสดงตนเพื่อทวงถามสัญญาจากท่านรัฐมนตรีที่ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่ ??!!
รสนา โตสิตระกูล
14 พฤษภาคม 2568